‘อีสาน-เหนือ’ ป่วย ‘มะเร็งตับ’ มากสุด หมอชี้ ‘เหล้า-ปลาร้า-ปลาจ่อม’ ตัวเร่ง

แพทย์เผยสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทย “มะเร็งตับ” พบอันดับ 1 ในเพศชาย “อีสาน-เหนือ” ป่วยมากที่สุด ชี้ “เหล้า-ปลาร้า-แหนม-อาหารหมักดอง มีเชื้อรา” ปัจจัยเสี่ยง

กรณี “ตั้ว” หรือ นายศรัณยู วงษ์กระจ่าง อายุ 59 ปี ดารานักแสดงและผู้กำกับชื่อดัง เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดี ถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง ทั้งนี้ จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย ปี 2558 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีตับ โดยพบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุของโรคมะเร็งตับนั้น เกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดี เกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ

“นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซี ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

ทางด้าน นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือดดูความผิดปกติการทํางานของตับ การตรวจระดับอัลฟาฟีโตโปรตีน การอัลตราซาวด์เพื่อดูก้อนที่ตับ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก เป็นต้น

นพ.จินดา กล่าวว่า ในการรักษามะเร็งตับและท่อน้ำดีนั้น มีหลายวิธีซึ่งจําเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องคํานึงหลายประการ สำหรับการป้องกันโรค ทำได้โดยการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพ รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน อาหารที่มีดินประสิว และอาหาร หมักดอง เป็นต้น

Advertisement

“หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง หรือมีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ ควรเข้ารับการตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับได้” นพ.จินดา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image