กรมพัฒนาแรงงานเร่งเพิ่มผลิตภาพ ‘แรงงาน’ ทั่วปท. ตั้งเป้า 300 สถานประกอบการ 1.5 หมื่นคน

กรมพัฒนาแรงงานเร่งเพิ่มผลิตภาพ ‘แรงงาน’ ทั่วปท. ตั้งเป้า 300 สถานประกอบการ 1.5 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัท อินทรอนิคส์ จำกัด อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ประจำปี 2563 ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์ ว่า กระทรวงแรงงาน มีนโยบายเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานรองรับกับเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบกิจการรายย่อย (เอสเอ็มอี) การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อเยี่ยมชมสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ สอบถามความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ รับฟังปัญหาและอุปสรรค และประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

“ผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ พบว่า ที่ปรึกษาให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ปรับจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับการผลิตในแต่ละขั้นตอน และวางผังการผลิตใหม่ ช่วยให้สามารถผลิตได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้น บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่และสามารถนำวิธีการไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตอื่นๆ ได้อีก” อธิบดี กพร. กล่าว

นายธวัช กล่าวว่า โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่เอสเอ็มอี 4.0 ในปี 2563 ตั้งเป้าหมายให้ความช่วยเหลือสถานประกอบกิจการเพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต จำนวน 300 แห่ง และพัฒนาทักษะให้พนักงานมีความรู้เชิงวิเคราะห์ จำนวน 15,000 คน โดยส่งทีมที่ปรึกษาเข้าไปศึกษากระบวนการผลิตและขั้นตอนการทำงานในสถานประกอบกิจการ เพื่อหาจุดบกพร่องที่ส่งผลต่อต้นทุน แล้วนำมาวิเคราะห์หาวิธีการแก้ไข เป็นระยะเวลา 210 วัน เพื่อให้สถานประกอบกิจการ กลุ่มเอสเอ็มอี สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ซึ่งช่วยให้แรงงานมีงานทำ มีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัว อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

Advertisement

นายกัณวัตม์ เสนานาญ ผู้จัดการโรงงาน บริษัทอินทรอนิคส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเข้าร่วมโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานปราจีนบุรี จัดส่งทีมที่ปรึกษาเข้ามาวิเคราะห์กระบวนการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าการส่งต่อผลิตภัณฑ์ไปยังแต่ละขั้นตอนไม่ต่อเนื่องและอยู่ห่างกันมาก ทำให้การผลิตช้าลง จึงปรับปรุงสายการผลิต เพื่อเป็นการลดระยะทางและประหยัดเวลาการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบ นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า พนักงานบางจุดมีมาก-น้อยเกินไป จึงมีการปรับจำนวนพนักงานให้เหมาะสมในแต่ละกระบวนการผลิต ซึ่งปลายเดือนสิงหาคมนี้ จะสามารถสรุปผลได้ว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตและสามารถเพิ่มผลิตภาพได้มากน้อยเพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image