เสียงสะท้อนคนในวงการ “ฟู้ดดิลิเวอรี” เห็นด้วยหรือไม่กับกฎหมายควบคุม

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
เตรียมจะออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ มาตรการควบคุมการประกอบกิจการให้บริการจัดส่งอาหาร ที่จะมีผลต่อการควบคุมบริการจัดส่งอาหารหรือฟู้ดดิลิเวอรีทั้งหมด จากประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว มาฟังกันว่า ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรีมีความคิดเห็นอย่างไร

คนขับรถส่งอาหาร (หรือที่เรียกกันว่า ฟู้ดไรเดอร์ หรือ ดิลิเวอรีแมน)

ดิลิเวอรีแมนของ Lalamove ย่านแจ้งวัฒนะ ซึ่งส่งอาหารให้กับแอพพลิเคชั่น LINE Man มองว่าประกาศที่ออกมาในทางปฏิบัติหลายข้อเป็นไปได้ยาก อย่างการเปิดกล่องอาหารเพื่อตรวจสอบคุณภาพ
บางร้านปิดผนึกกล่องบรรจุอาหารมาอย่างดีแล้ว การที่จะให้คนขับเปิดกล่องเพื่อตรวจก่อนยิ่งสร้างความไม่มั่นใจและอาจทำให้ลูกค้าไม่พอใจ หากลูกค้ารู้ว่ากล่องอาหารถูกเปิดอาจจะขอคืนอาหารได้ แน่นอนว่าคนที่ได้รับผลกระทบคือ คนส่งอาหาร ถ้าจะตรวจสอบเรื่องบรรจุภัณฑ์ อยากให้ไปเข้มงวดกับร้านอาหารมากกว่า

“ผมคิดว่าถ้าเรื่องบรรจุภัณฑ์ กรมอนามัยควรจะต้องไปเข้มงวดกับทางร้าน เพราะพวกผมทำหน้าที่
แค่จัดส่งเท่านั้น อย่างมากก็ตรวจดูความเรียบร้อยของบรรจุภัณฑ์ภายนอกหรือดูว่าออเดอร์ที่รับมาถูกต้องมั้ย แต่จะมาให้พวกผมตรวจเช็กเรื่องความสะอาด เราก็ไม่อยากไปแกะไปรื้อ จริงๆ แล้วคนส่งอาหารคงไม่มีอำนาจไปตัดสินว่าวัตถุดิบที่ใช้ดีหรือไม่ บรรจุภัณฑ์แบบไหนเหมาะสม ถ้าเรื่องพวกนี้น่าจะต้องไปควบคุมทางร้านมากกว่า” Ž

Advertisement

ฟากฟู้ดไรเดอร์จากค่าย Foodpanda ที่วิ่งรับงานในเขต กทม.ให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าจะมีกฎหมายควบคุมดูแลเรื่องสุขอนามัยของฟู้ดดิลิเวอรี ส่วนตัวมองว่าแอพพลิเคชั่นต่างๆ มีกฎระเบียบที่ชัดเจนอยู่แล้ว
มีมาตรการที่กำหนดเป็นแนวทางว่าคนขับรถส่งอาหารที่มารับงานต้องปฏิบัติอย่างไร ซึ่งถ้าไม่ทำตามหรือทำผิดกฎ ก็จะถูกระงับการใช้แอพพลิเคชั่น
ทำให้ไม่สามารถวิ่งรับงานได้

“ปกติบริษัทดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว ทุกคนต้องตรวจสุขภาพตัวเองก่อนรับงานทุกวัน เวลาไปห้างหรือร้านอาหารต่างๆ คนขับก็ถูกวัดไข้ตลอด แถมบริษัทยังมีนโยบายอื่นๆ ทั้งให้ลดการสัมผัสกับลูกค้าโดยตรง ต้องยืนห่างจากลูกค้าเวลาส่งอาหาร ถ้าใครทำผิดกฎก็ถูกปิดระบบ ไม่ได้วิ่งงาน แต่ถ้ากรมอนามัยจะต้องให้ตรวจไข้ ตรวจเล็บ ตรวจผมทุกวัน ถามว่าเป็นไปได้ไหม ผมมองว่าเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคนขับรับงานไม่ตรงกัน ทำงานคนละเวลาแล้วแต่ความสะดวก แถมทุกวันนี้มีคนขับเป็นแสน จะมีเจ้าหน้าที่กรมมานั่งรอตรวจทุกวันเหรอ ผมว่าไม่น่าจะรองรับได้เพียงพอ น่าจะรอกันนาน กว่าจะได้ทำงานกันทีก็ต้องรอคิว เสียโอกาสในการหารายได้Ž”

ในประเด็นที่กรมอนามัยจะกำหนดให้คนขับรถส่งอาหารต้องมีบัตรประจำตัว พาร์ตเนอร์คนส่งอาหารรายหนึ่ง ของแอพพลิเคชั่น Grab Food ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวมองว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสุขอนามัยและความสะอาดของอาหารเลย และอันที่จริงแล้วบริษัทก็มีการตรวจสอบประวัติเราตั้งแต่สมัครแล้ว ทุกคนต้องมีใบขับขี่ และบริษัทก็มีการทำประกันอุบัติเหตุให้อยู่แล้ว และถ้าลูกค้าไม่พอใจบริการก็สามารถตรวจสอบชื่อคนขับและร้องเรียนผ่านแอพพ์ได้

Advertisement

“ในแง่ที่กรมอนามัยจะให้คนขับต้องเข้าอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่เอาจริงๆ มันก็อาจจะไกลตัวคนขับไปหน่อย หลักสูตรแบบนี้น่าจะเหมาะกับคนทำอาหาร หรือพนักงานร้านอาหารที่ต้องสัมผัสอาหารโดยตรง พวกผมสัมผัสแค่ถุงภายนอกเท่านั้น แต่ถ้าจะให้อบรมจริงๆ ทำเป็นรูปแบบออนไลน์ได้มั้ย เพราะถ้าให้ไปนั่งอบรมทั้งวัน นอกจากจะเสียเวลาเดินทางแล้ว
ผมว่ามันเสี่ยงที่จะให้คนไปรวมกันเยอะๆ”Ž

เจ้าของร้านอาหารขนาดเล็ก พิมพ์พิชชา โพธิ์ทอง ร้านลาบเป็ดอุดรประชานิเวศน์ กล่าวว่า ก่อนที่ร้านอาหารจะสามารถขายผ่านแอพพลิเคชั่นได้นั้น ต้องมีกฎและข้อปฏิบัติเยอะพอสมควร
อยู่แล้ว หากร้านไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกยกเลิกงาน หรืออาจระงับสัญญา ถ้ากรมอนามัยจะออกประกาศควบคุมธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี สำหรับร้านเราไม่คิดว่าเป็นปัญหาใดๆ เพราะเราใส่ใจเรื่องความสะอาดอยู่แล้ว ทำตามขั้นตอนต่างๆ ที่ภาครัฐได้ส่งเสริมมาตลอด น่าจะเป็นปัญหากับพวกร้านเล็กๆ ได้ เพราะถ้ามีการตรวจสอบ หรือมีกฎระเบียบที่เข้มงวด อาจทำให้ร้านพวกนี้ไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่สามารถขายผ่านแอพพ์สั่งอาหารได้ เรื่องนี้ส่งผลกระทบแน่นอน

เบญญาภา พฤติปวีณ ร้านเส้นใหญ่ (ล้านตำลึงทอง) มองว่ากฎหมายใหม่ที่จะออกมาควบคุมในแง่มาตรฐานของบรรจุภัณฑ์ ทางร้านสามารถปฏิบัติตามได้โดยจะปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ห่อกลับ
บ้านให้เหมือนกับที่ห้างใช้ แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อลูกค้า

“ร้านเราโอเคนะคะ พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ลูกค้าจะรับได้หรือเปล่า เพราะราคาต้องเพิ่มขึ้น ถ้าเกิดห่อกลับบ้านเราก็ต้องใช้กล่องเหมือนที่ห้าง หรือร้านแพงๆ ใช้ ต้องเพิ่มอีก 5-10 บาท เราไม่มีปัญหา จัดให้ได้ตามกฎหมาย แต่ลูกค้าจะคิดหนักไหมที่ต้องเสียเงินเพิ่มมาอีกนิด ทุกวันนี้ก็ข้าวยากหมากแพงอยู่แล้ว เราก็เห็นใจทุกฝ่าย”Ž เบญญาภา กล่าว

ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นฟู้ดดิลิเวอรี ดร.เก่งการ เหล่าวิโรจนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า แกร็บเห็นด้วยและสนับสนุนร่างประกาศของกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ เพราะหลักการของกฎหมายคือ ต้องการดูแลสุขอนามัยของผู้ส่งอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจว่า
ผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่สะอาดและปลอดภัย อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าบริษัทมีความกังวลในบางประเด็นและได้นำเสนอข้อคิดเห็นต่อร่างประกาศดังกล่าวให้กับกรมอนามัย

“ประเด็นหลักๆ ที่บริษัทได้นำเสนอเพื่อพิจารณา คือ เรื่องการกำหนดยานพาหนะ ที่ต้องการให้เปิดกว้างเพื่อไม่เป็นการจำกัดโอกาสในการทำงานของคนขับ บางคนที่ไม่มีรถก็สามารถสร้างรายได้เสริมจากการส่งอาหารได้ เรื่องการอบรมด้านหลักสูตรสุขาภิบาลอาหาร โดยควรจัดในรูปแบบออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้จัดส่งอาหารที่มีหลายแสนคน และการตรวจประวัติสุขภาพของผู้จัดส่งอาหาร ซึ่งทำให้คนขับต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่ขอเสนอให้แต่ละแอพพลิเคชั่นมีระบบเช็กลิสต์เพื่อให้ผู้จัดส่งอาหารได้ประเมินและชี้แจงภาวะทางสุขภาพก่อนการทำงานในทุกวันแทน”Ž


“แน่นอนว่า ความปลอดภัยและสุขอนามัยของผู้บริโภคถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กันคือการทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเต็มใจและพร้อมสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่ายและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน”Ž ดร.เก่งการ กล่าวเสริม

นายอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้บริหารฝ่าย Public Affairs ของแอพพลิเคชั่น LINE Man กล่าวว่า เบื้องต้นไลน์แมนได้ส่งข้อคิดเห็นที่มีต่อร่างกฎระเบียบดังกล่าวเพื่อให้กรมอนามัยได้พิจารณาแล้ว แต่ขอสงวนที่จะไม่แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจนกว่าจะมีร่างกฎระเบียบฉบับปรับปรุงใหม่ออกมา ในขณะที่
ผู้ให้บริการอีก 2 รายอย่าง Foodpanda และ GET ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว

นี่คือเสียงสะท้อนจากผู้คนที่ต้องปฏิบัติตามร่างประกาศกระทรวงฉบับนี้ ที่ได้แสดงความเห็นต่อความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ จากสุ้มเสียงนี้ ผู้กำหนดนโยบายอย่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะรับฟังมากน้อยแค่ไหน แล้วจะเดินหน้ากับร่างประกาศดังกล่าวในทิศทางใด คงต้องรอติดตาม…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image