กัญชาทางการแพทย์ : บริษัทเอกชน ผลิต ปลูก และสกัดได้ โดย วิโรจน์ พูนสุวรรณ

กัญชาทางการแพทย์: บริษัทเอกชน ผลิต ปลูก และสกัดได้ โดย วิโรจน์ พูนสุวรรณ คอลัมน์ กฎหมายธุรกิจ

ช่วงโควิด 19 กำลังแผลงฤทธิ์ ภาครัฐ ได้จัดทำร่างพ.ร.บ.กัญชาฉบับใหม่ เป็นรูปเป็นร่างออกมาแล้ว ยกเลิกข้อห้ามที่มิให้เอกชนผลิตกัญชาทางการแพทย์ ภายใน 5 ปี และยังอนุญาตให้ผู้ป่วยได้ปลูกกัญชา นำมารักษาตัวเองได้ เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยไม่อาจเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์ยาขายในท้องตลาด และที่พอหาได้ก็มีราคาแพง

แต่ท่านอย่าใจร้อน ยังปลูกและผลิตกัญชาตอนนี้ไม่ได้ ผิดกฎหมาย ต้องรอจนกว่าร่างพ.ร.บ.ประกาศใช้เป็นกฎหมายใหม่เสียก่อน และหนทางยังอีกยาวไกลนานหลายเดือน อาจเป็นปี ตามกระบวนการออกกฎหมายโดยทั่วไป ต้องผ่านรัฐสภา อย่างเร็วก็ปี 2564

ข้อห้ามเดิมสิ้นสุดปี 2567

ข้อห้าม 5 ปี นับตั้งแต่วันที่พ.ร.บ.กัญชา มีผลใช้บังคับ คือ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 นับไปจนครบห้าปีในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ในช่วงเวลาดังกล่าว ห้ามมิให้ บริษัทเอกชน และ ประชาชนทั่วไป ปลูกกัญชา หรือกัญชง ไม่ว่าจะปลูกไว้เป็นยารักษาโรค ในครัวเรือน หรือทำเป็นเกษตรกรรมประกอบอาชีพ เป็นธุรกิจ และห้ามนำกัญชา กัญชง มาสกัด แปรรูป ทำเป็นยารักษาโรค

Advertisement

กฎหมายเดิมที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เข้มงวดพอสมควร กำหนดว่า ช่วงห้าปีแรกนับแต่กฎหมายกัญชามีผลบังคับใช้นี้ อนุญาตให้เฉพาะหน่วยงานราชการ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ทำงานทางด้านวิจัยและพัฒนา เกี่ยวกับ การแพทย์ เภสัชศาสตร์ เกษตรกรรม และวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ขออนุญาต ผลิตกัญชาทางการแพทย์

การผลิต ก็แยกเป็น การเพาะปลูก ทางเกษตรกรรม เพื่อวิเคราะห์วิจัย ทางวิชาการ หรือผลิตโดยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้แก่การสกัด และแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ยารักษาโรคเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย

การผลิตเหล่านี้ ล้วนแต่ต้องทำโดย หน่วยงานราชการ หรือมหาวิทยาลัยรัฐ ผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตทั้งสิ้น

Advertisement

มหาวิทยาลัยเอกชน หรือวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตร ก็ขออนุญาตผลิตได้ แต่ก็ต้องได้รับการควบคุมดูแลจากหน่วยงานราชการ หรือมหาวิทยาลัยรัฐ จะดำเนินการเอง ทำไปเลย โดยลำพังไม่ได้

กฎหมายใหม่ ใช้เฉพาะการแพทย์แผนไทยและยาสมุนไพร

ร่างพ.ร.บ.กัญชาใหม่ ยกเลิกความเป็นพี่เลี้ยง ของหน่วยงานราชการ และมหาวิทยาลัยรัฐ โดยอนุญาตให้บริษัทเอกชน และ บุคคลธรรมดา ผู้ประกอบธุรกิจเกษตรกรรม ขออนุญาตผลิตกัญชาทางการแพทย์ได้เองโดยตรงไม่ต้องให้หน่วยราชการเป็นผู้ขอใบอนุญาตผลิตแบบเพาะปลูก หรือแบบสกัด

ทั้งนี้และทั้งนั้น การเพาะปลูก และการสกัด กัญชาทางการแพทย์ โดยเอกชน ที่จะทำได้ก่อนครบกำหนดห้าปีนี้ ต้องจำกัดอยู่เพียงกัญชาและกัญชงเพื่อการแพทย์แผนไทย และยาสมุนไพรเท่านั้น

หากจะผลิตยาสมัยใหม่ ยังทำไม่ได้ ยังติดข้อห้ามห้าปีอยู่ ถ้าคิดจะทำก็ต้องดำเนินการทางอ้อม พึ่งใบบุญของหน่วยงานราชการ และมหาวิทยาลัยรัฐ ให้เป็นผู้ขอใบอนุญาตผลิต เหมือนเดิม

และแม้ว่าร่างกฎหมายใหม่ จะอนุญาตให้เอกชนผลิตกัญชาทางการแพทย์ได้โดยตรง โดยกำหนดให้อยู่ในวงจำกัดเฉพาะการแพทย์แผนไทย และสมุนไพร แต่กฎหมายใหม่ก็ไม่ได้ปล่อยให้เป็นอิสระเสียทีเดียว ยังต้องควบคุมคุณภาพการผลิต โดยต้องหาพี่เลี้ยงรายใหม่เป็นผู้ควบคุมดูแล ซึ่งเป็นเอกชนเหมือนกัน คือ ผู้ได้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน แผนไทย หรือยาสมุนไพร ตามพ.ร.บ.ยา

ผู้ป่วยปลูกกัญชาเป็นยาได้

สำหรับประชาชนทั่วไป ที่เป็นผู้ป่วยก็ขออนุญาตเพาะปลูก สกัด และแปรรูป ได้เช่นกัน แต่ต้องมีใบรับรองแพทย์ ระบุว่าตนเป็นผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยากัญชา รักษาโรค

รายละเอียดว่าจะปลูกได้กี่ต้น ผลิตยาใช้เองได้ในปริมาณควบคุมเพียงใด และใบรับรองแพทย์ ต้องออกโดยแพทย์เฉพาะทางที่ได้รับการอบรมโดยเฉพาะหรือไม่อย่างไร ก็ต้องไปว่ากันในกฎกระทรวง ที่จะออกตามมาอีกครั้งหนึ่ง

นำเข้า ห้ามเหมือนเดิม

การนำเข้าผลิตภัณฑ์กัญชาและกัญชงทางการแพทย์ เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จึงยังคงต้องห้าม ต่อไป ภายในห้าปีแรก

แต่ที่ได้รับยกเว้นคือ การนำเข้าเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในการเพาะปลูกทางเกษตรกรรม

ส่งออก ปลดล็อคโดยสิ้นเชิง

ส่วนกรณีส่งออก เป็นผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนภายในประเทศ สอดคล้องกับความใฝ่ฝันของผู้คนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่พ.ร.บ.กัญชาฉบับแรกออกเป็นกฎหมายใหม่ ๆ

ร่างกฎหมายใหม่ จึงเปิดโอกาสให้เต็มที่ ให้เอกชนผู้ได้รับใบอนุญาตผลิต ขอใบอนุญาตส่งออก กัญชา กัญชง ที่อยู่ในรูปของพืชได้ หรือจะอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ยารักษาโรคสำเร็จรูป ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นยาสมัยใหม่ ยาการแพทย์แผนไทย หรือยาสมุนไพร

หรือเอกชน ไม่ใช่ผู้ผลิต แต่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตส่งออกอย่างเดียวก็ได้เช่นกัน

กัญชงเชิงพาณิชย์ มาแรงกว่ากัญชาทางการแพทย์

ที่ตื่นเต้นกันมากเมื่อปลายปีที่แล้ว คือร่างกฎกระทรวงกัญชง ตามพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน ที่อนุญาตกว้างไกลกว่ากัญชาและกัญชงทางการแพทย์ ความคิดก้าวหน้ามาก จนถึงขั้นอนุญาตให้เอกชนผลิตกัญชงเพื่อการพาณิชย์ได้ รวมไปถึงการนำกัญชงมาผลิต สกัด แปรรูป เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่วางขายในท้องตลาดและร้านสะดวกซื้อได้ทั่วไป ในรูปแบบของ อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง ตลอดจน การผลิตกัญชงของชาวบ้านเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน

เดิมคาดว่ากฎกระทรวงกัญชง จะออกเป็นกฎหมายได้ในช่วงกลางปีนี้ แต่เจอปัญหาโควิด 19 เสียก่อน จึงต้องพักไป เพิ่งเริ่มเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกา วาระแรก ในสามวาระ

ร่างกฎกระทรวงอีกฉบับคือร่างกฎกระทรวงกัญชาตามพ.ร.บ.เดิมเช่นกัน กฎกระทรวงฉบับนี้ล่วงหน้าไปก่อนเดินทางไปถึงกฤษฎีกาก่อนกฎกระทรวงกัญชง และผ่านการพิจารณาวาระแรกไปแล้ว แต่กำลังถูกกฎกระทรวงกัญชงมาแรงแซงทางโค้ง ถูกจัดลำดับความสำคัญที่สูงกว่า

กฎกระทรวงกัญชงเชิงพาณิชย์ จึงน่าจะออกมาเป็นกฎหมายใหม่ ได้ก่อนพ.ร.บ.และกฎกระทรวงกัญชาทางการแพทย์

วิโรจน์ พูนสุวรรณ เป็นที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส และหัวหน้าโครงการพิเศษ สำนักกฎหมายบลูเมนทอล ริชเตอร์ แอนด์สุเมธ ติดต่อได้ที่ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image