“อนุทิน” แจงปม “คลินิกอบอุ่น” 18 แห่ง “เบิกเท็จ” สปสช.ตรวจพบเอง เรียกเงินคืนแล้ว

“อนุทิน” แจงปม “คลินิกอบอุ่น” 18 แห่ง “เบิกเท็จ” สปสช.ตรวจพบเอง เรียกเงินคืนแล้ว

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ.พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมประชุมด่วนกรณีมีการอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง การเบิกเงินค่าตรวจสุขภาพป้องกันโรคเรื้อรังโดยคลินิกที่ขึ้นทะเบียนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แต่ไม่มีการตรวจจริง

ภายหลังหารือ นายอนุทิน พร้อมคณะแถลงชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า หลังจากที่ได้รับข้อมูลว่ามีการกระทำที่ส่อไปทางทุจริตของการใช้คลินิกชุมชนอบอุ่น โดยมีใบเรียกเก็บที่บอกว่าได้ทำการตรวจเช็กสุขภาพ ประชาชนในกรุงเทพมหานคร หลังจากที่ สปสช.เห็นว่าไม่ปกติ ก็ได้ทำการตรวจสอบ พบว่าได้เก็บเงินเกินจริง และพบว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง จึงได้ทำการพิทักษ์ผลประโยชน์ของทางราชการกลับมา โดยยอดยอดทั้งหมดร่วม 72 ล้านบาท และ สปสช.ได้เรียกเก็บจากผู้ที่ดำเนินการคลินิกได้กลับมาแล้ว 60.77 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นความผิดทางคดีอาญา โดยเลขาธิการ สปสช.ถือว่าเป็นผู้เสียหาย ก็จะต้องแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

“สธ.มี สบส.ที่รับผิดชอบเรื่องจริยธรรม เรื่องการมอบอนุญาตใบประกอบโรคศิลป์ให้แก่คลินิกต่างๆ สบส.จะต้องลงไปตรวจสอบคลินิกเหล่านั้นอย่างละเอียด หากทำผิดตามมาตรา 73 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ.2541 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม การนำข้อมูลอันเป็นเท็จ ก็จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตทั้งหมด เบื้องต้นเรียนว่า เลขาธิการ สปสช. ยืนยันว่ามีธีการตรวจสอบความผิดปกติแล้ว ในการตรวจโรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือด ไขมัน ที่ สปสช.ได้จัดโครงการ คลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องไปรอที่โรงพยาบาล (รพ.) พบความผิดปกติจากยอดที่เรียกเก็บ เช่น คลินิก 1 ห้อง ทำไมรับยอดสูง จึงลงไปตรวจสอบ หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า คลินิกชุมชนอบอุ่นจะเป็นคลินิกที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งคล้ายกับการดำเนินของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในต่างจังหวัด จำนวนทั้งหมด 196 แห่ง พบว่ามีการกระทำผิดดังกล่าว 18 แห่ง โดยส่วนใหญ่คลินิกฯ เป็นภาคเอกชน ในการที่ สปสช.จะจ่ายเงินให้แก่คลินิกฯ สิ่งสำคัญคือ จะต้องมีเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ และเบอร์โทรของผู้เข้ารับบริการ ส่งมายัง สปสช. และหลังจากนั้น สปสช.จะตรวจสอบและจ่ายเงินไป บางครั้งจะมีการจ่ายไปก่อนและตรวจสอบทีหลัง และในครั้งนี้ สปสช. ตรวจสอบเอง พบความผิดปกติที่ส่อไปในทางทุจริต ก็ได้ดำเนินการเบื้องต้นในขอบเขตของ สปช. ด้วยการเรียกเงินคืน ต่อไปก็จะรวบรวมเอกสารเชิงประจักษ์ ส่งไปดำเนินการทางกฎหมาย 2 ส่วนคือ 1.ส่งเรื่องไปยังกองประกอบโรคศิลปะ สบส. และ 2.ส่งการร้องทุกข์แจ้งความ กรณีการฉ้อโกง ซึ่งขณะนี้เอกสารครบถ้วนแล้ว และจะดำเนินการยื่นให้เร็วที่สุด คาดว่าจะเป็นวันที่ 8 กรกฎาคมนี้

Advertisement

“ข้อมูลชุดนี้ สปสช.เป็นผู้ตรวจสอบพบเอง จากระบบการตรวจสอบของ สปสช. ที่จะดำเนินการตรวจสอบจากข้อมูลการเบิกเงินที่ได้รับ ปกติจะสุ่มตรวจร้อยละ 5 ของจำนวนผู้ป่วยเพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยได้รับบริการหรือไม่ ทั้งนี้ดำเนินการทั้งของภาครัฐและเอกชน เงินส่วนนี้เป็นเงินของปีงบประมาณ 2562 โดย สปสช. ดำเนินตรวจสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 และเมื่อพบว่าผิดปกติ ก็นำเข้าคณะกรรมการหลักประกันฯ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม และมีมติเห็นชอบให้เรียกเงินคืน ทั้งนี้เงินที่เหลือจะเร่งให้ครบก่อนสิ้นเดือนกันยายน หรือก่อนปีงบประมาณ 2563 อย่างไรก็ตาม ระบบการตรวจสอบจะต้องมีการพัฒนาต่อ เนื่องจากปีหนึ่งมีผู้ป่วยเป็นร้อยล้านคน แต่ในขณะนี้มีการตรวจสอบประมาณเพียงร้อยละ 5 ของผู้ป่วย” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า หากมีการสั่งปิดคลินิกชุมชนอบอุ่นทั้ง 18 แห่ง จะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการต้องไปรับบริการประมาณ 2 แสนคน แต่ สปสช.ได้เตรียมการรองรับไว้แล้ว คือ จะจัดหาคลินิกชุมชนอบอุ่นข้างเคียงที่ยังมีโควตารองรับได้ และผู้ป่วยเหล่านี้จริงๆ ยังมีหน่วยบริการประจำหรือ รพ.ตามสิทธิที่รับดูแลอยู่ เนื่องจากเรากระจายผู้ป่วยจาก รพ.มายังคลินิกชุมชนอบอุ่นเพื่อลดความแออัด

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในส่วนของ สบส. จะปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล โดยแบ่งเป็น 2 ด้านคือ 1.ทางกฎหมายอาญา เป็นความผิดตามมาตรา 73 โดยระบุว่า หากผู้ได้รับอนุญาต ผู้ประกอบการสถานพยาบาล ทำหลักฐานเท็จ หากเป็นความผิดจะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท โดยขณะนี้ได้ทำหนังสือเรียกคลินิกทั้งหมดมาสอบแล้ว คาดว่าจะมีข้อมูลในสัปดาห์หน้า และ 2.มาตรการทางปกครอง รอข้อมูลจาก สปสช. เพื่อดูว่าเรื่องการทำข้อมูลเท็จ ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อผู้รับบริการหรือไม่ เช่น ผู้ที่ไม่ได้เป็นป่วยเป็นโรคใด แต่กลับวินิจฉัยว่าเป็นโรค แล้วต้องรับยา ก็นับว่าเป็นความเสียหาย ร่วมกับการที่ สปสช.เรียกร้องว่าถูกฉ้อโกง ก็จะดำเนินการตามมาตร 40, 50 เพื่อระงับใบอนุญาต และหากเป็นความผิดร้ายแรงจะสั่งพักใช้ใบอนุญาต

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า การออกมาแถลงตรงนี้มีการมองว่าเกิดจากศึกซักฟอกที่ผ่านมา นายสาธิต กล่าวว่า ไม่ใช่ ต้องย้ำว่าการอภิปรายของ ส.ส.ในสภา เป็นกรณีที่ สปสช.ตรวจสอบพบเอง และเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 และตรวจสอบมาตลอด เมื่อ สธ.รับทราบไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อเห็นข้อมูลจากการอภิปราย จึงมาเรียกประชุมเพื่อจัดการให้ดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายอย่างเด็ดขาด ไม่ได้หมายความว่าปกปิด หลักเป็นอย่างนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image