‘ดาวหางนีโอไวส์’ เยือนโลก ลุ้นเห็นตาเปล่า ครึ่งหลังเดือนนี้

ดาวหางนีโอไวส์เมื่อเช้ามืดวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 โดยนักดาราศาสตร์ในญี่ปุ่น (จาก shuji_acure / twitter)

‘ดาวหางนีโอไวส์’ เยือนโลก ลุ้นเห็นตาเปล่า ครึ่งหลังเดือนนี้

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมดาราศาสตร์ไทย โดยนายวรเชษฐ์ บุญปลอด ระบุถึง ดาวหางนีโอไวส์ – C/2020 F3 (NEOWISE) จะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 0.692 หน่วยดาราศาสตร์ (103 ล้านกิโลเมตร)

สำหรับดาวหางนีโอไวส์ – C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางที่ค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2563 โดยค้นพบจากภาพถ่ายในโครงการค้นหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (NEOWISE ย่อมาจาก Near-Earth Object Wide-field Infrared Survey Explorer) ขณะค้นพบ ดาวหางสว่างที่โชติมาตร 17 รายงานการสังเกตการณ์ล่าสุดจากพื้นโลกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ก่อนดาวหางจะหายไปจากท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ พบว่าดาวหางสว่างที่โชติมาตร 6.8 หลังจากนั้นดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากจนไม่สามารถสังเกตได้

วันที่ 22-28 มิถุนายน 2563 ดาวหางนีโอไวส์ปรากฏในภาพถ่ายจากยานโซโฮ (SOHO) ซึ่งเป็นยานสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์และสภาพแวดล้อมรอบดวงอาทิตย์ มีรายงานว่าในช่วงดังกล่าว ดาวหางมีความสว่างเพิ่มขึ้นจากราวโชติมาตร 4 ไปที่ 2 ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีกว่าที่คาดไว้ ก่อนที่ดาวหางจะปรากฏในภาพถ่ายจากยานโซโฮ มีความกังวลว่าดาวหางนีโอไวส์อาจเผชิญชะตากรรมเดียวกับดาวหางสองดวงก่อนหน้านี้ ที่แตกสลายและมีความสว่างลดลงมาก แต่ในภาพถ่ายจากยานโซโฮแสดงให้เห็นว่าดาวหางยังคงอยู่ในสภาพดี ไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าดาวหางกำลังแตกสลาย มีความสว่างมากกว่าที่คาดไว้ และสว่างเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้มีความหวังว่าจะสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อดาวหางเคลื่อนห่างจากดวงอาทิตย์มากพอให้สังเกตได้บนท้องฟ้าเวลากลางคืน

วันที่ 28 มิถุนายน เป็นวันสุดท้ายที่ดาวหางปรากฏในภาพถ่ายจากยานโซโฮ หลังจากนั้น ต้นเดือนกรกฎาคม 2563 เริ่มมีรายงานการสังเกตเห็นดาวหางบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดจากหลายประเทศที่อยู่ในละติจูดสูงของซีกโลกเหนือ ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยดาวหางปรากฏท่ามกลางแสงเงินแสงทองของท้องฟ้ายามรุ่ง ต้องอาศัยกล้องสองตาและกล้องโทรทรรศน์ และทราบตำแหน่งบนท้องฟ้าที่แน่นอน ดาวหางนีโอไวส์ผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 0.295 หน่วยดาราศาสตร์ (44 ล้านกิโลเมตร) และใกล้โลกที่สุดในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 0.692 หน่วยดาราศาสตร์ (103 ล้านกิโลเมตร)

Advertisement

หมายเหตุ

โชติมาตร – magnitude หมายถึง มาตราบอกความส่องสว่างของวัตถุท้องฟ้า ตัวเลขยิ่งมีค่าน้อยยิ่งสว่าง ดาวจางที่สุดที่ตาเปล่าของคนสายตาปกติจะมองเห็นได้ในเวลากลางคืนภายใต้ท้องฟ้ามืดสนิท มีโชติมาตรประมาณ 6.5 ตัวอย่างโชติมาตรของดาว เช่น ดาวเหนือมีโชติมาตร 2 ดาวศุกร์มีโชติมาตรประมาณ -4 ดวงจันทร์เพ็ญมีโชติมาตรประมาณ -12.7 ดวงอาทิตย์มีโชติมาตร -26.8

จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด – perihelion หมายถึง ตำแหน่งบนวงโคจรของเทห์ฟ้าในระบบสุริยะ เช่น ดาวเคราะห์ ดาวหาง หรือดาวเทียม หรือยานอวกาศที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวงโคจร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image