สธ.ดันออกประกาศ “ปลูกกัญชา” ที่บ้าน จ่อรับ 2 ตำรับยาเป็นสมบัติชาติ

สธ.ดันออกประกาศ “ปลูกกัญชา” ที่บ้าน จ่อรับ 2 ตำรับยาเป็นสมบัติชาติ

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดสัมมนาวิชาการ เรื่องทิศทาง การพัฒนานวัตกรรมและการศึกษาวิจัยทางคลินิกของผลิตภัณฑ์กัญชาในประเทศไทย โดยมี นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมรับฟัง

นพ.สำเริง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนโยบายการคลายล็อก อนุญาตให้นำกัญชาและผลิตภัณฑ์จากกัญชามาใช้ในการรักษาหรือศึกษาวิจัย สำหรับการสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดการศึกษาวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ นำไปสู่การพัฒนาในระดับอุตสาหกรรม สำหรับนโนยายปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก แต่ก็พยายามส่งเสริมตามที่กฎหมายอนุญาต โดยคาดว่าประมาณ 2-3 เดือนจากนี้จะมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้ป่วยที่แพทย์ให้การวินิจฉัยแล้วสามารถปลูกได้ 6 ต้น หรือการที่เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูก เพื่อเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดใช้เพื่อการแพทย์

ด้าน ภก.อนันต์ชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายเรื่องกัญชาทางการแพทย์ที่ชัดเจนในการพัฒนาให้กัญชาเดินไปข้างหน้า แต่ก็ต้องมีงานวิชาการมาประกอบ เพื่อสร้างการยอมรับของนานาประเทศด้วย

Advertisement

“ปัจจุบันประเทศไทยมีตำรับยาเข้ากัญชาที่หลากหลาย แต่ก็ไม่ได้มากนัก อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเดินไปอย่างไร จะพัฒนาใช้แค่ในประเทศ เป้าหมายคือ เพื่อการส่งออก โดยเฉพาะตำรับยาแผนไทย ซึ่งมีเฉพาะที่ไทย และการจะเป็นนวัตกรรมได้เราต้องพัฒนาของเราเอง ไม่ใช่การเดินตามฝรั่ง ดังนั้นต้องมีการพัฒนาตรงจุดนี้ พัฒนาวิจัยมีวิทยาศาสตร์รองรับ เพื่อความมั่นใจแล้วเราจะสามารถส่งออกได้” ภก.อนันต์ชัย กล่าว

ขณะที่ นพ.มรุต กล่าวว่า ปัจจุบันมียาเข้ากัญชาอยู่ 16 ตำรับ ที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์และการวิจัยทางการแพทย์ได้ ตำรับที่มีการใช้มากที่สุด คือ ตำรับศุขไสยาศน์ ตำรับยาทำลายพระสุเมรุ และน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา โดยรวมๆ มีการใช้มากกว่า 60,000 ครั้ง หรือใช้กับผู้ป่วยไปแล้วประมาณ 30,000 คน ถือว่ามีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอยู่ ถ้าจะพอมีความหวังเรื่องการส่งออกคงเป็นตำรับเหล่านี้ แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการศึกษาวิจัยที่ชัดเจนมารองรับด้วย ดังนั้น ขณะนี้จึงเป็นการใช้ภายในประเทศ และต่อยอดใช้แคนาบินอยด์จากกัญชาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่หลากหลายมากขึ้น

Advertisement

“ขณะนี้เราได้รับมอบตำรับยาเข้ากัญชามา 2 ตำรับ คือ ตำรับเมตตาโอสถ และตำรับการุณย์โอสถจากแพทย์แผนปัจจุบันที่มีประสบการณ์กับผู้ป่วยโดยตรงให้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อนำไปศึกษาวิจัย และพัฒนาและใช้ประโยชน์ให้เป็นทางเลือกกับผู้ป่วย คาดว่าจะดำเนินการวิจัยได้ในช่วงเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไป” นพ.มรุต กล่าว

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image