‘ปิยะสกล’ ชูร่างรธน.ให้ความสำคัญ’หมออนามัย-แพทย์เวชศาสตร์’ เดินหน้าคลินิกหมอครอบครัว

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

วันที่ 28 กรกฎาคม  ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมวิชาการการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2559 จัดโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ว่า ระบบสุขภาพจะต้องดูแลประชาชนทุกครัวเรือนและทั้งประเทศ ซึ่ง สธ.ก็มีระบบดังกล่าวแล้ว โดยมี สบส.ดูแลเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีหมออนามัย และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการลงไปดูแลสุขภาพประชาชนทุกครัวเรือน อย่างไรก็ตาม เพื่อเพิ่มศักยภาพของ รพ.สต.และหมออนามัย ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้มีการระบุชัดถึงการให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงไปช่วยดูแลประชาชนทุกครัวเรือนทั้งประเทศ

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ก็เริ่มมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงไปประจำแล้ว อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา ก็มีการพัฒนาโดยการตั้งคลินิกหมอครอบครัว โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงไปประจำในอัตรา 3 คนต่อประชากร 30,000 คน เป็นการดูแลในแบบปฐมภูมิ โดยเฉพาะบริเวณเขตพื้นที่ชุมชนเมือง ซึ่งสามารถช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ของ จ.พระนครศรีอยุธยาลงได้ โดย สธ.ตั้งเป้าว่าภายใน 10 ปีจะต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประมาณ 6,000 กว่าคน หรือมีอัตราส่วนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไปได้ ส่วนหมออนามัยก็ยังทำหน้าที่เป็นกำลังหลักในการดูแลประชาชนเช่นเดิม แต่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมาช่วยเสริม รวมถึงยังมีวิชาชีพอื่นๆ ในการลงไปดูแลประชาชนด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีหมออนามัยตาม รพ.สต. กลุ่มหนึ่ง มองว่าที่ผ่านมากระทรวงอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า หมออนามัยยังคงเป็นกำลังสำคัญของระบบสุขภาพประเทศ อย่าได้น้อยใจ เขารู้ตัวดีว่าตัวเองทำงานขนาดไหน ผู้บริหารก็รับรู้ อยากฝาก รพ.สต.ว่า หมออนามัยทั้งประเทศเป็นส่วนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของระบบสุขภาพในประเทศ และไม่เพียงแค่หมออนามัยเท่านั้น แต่อยากฝากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคนว่า ทุกคนมีความสำคัญที่สุดต่อระบบบริการสุขภาพ จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามกรณีหมออนามัยมีการเรียกร้องเรื่องค่าตอบแทน นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า หลังจากพ้นช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 สิงหาคม จะมีการนัดพูดคุยหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ไม่ได้นิ่งเฉย มีการดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่หมออนามัยที่เรียกร้องเรื่องค่าตอบแทน แต่ทุกวิชาชีพเรียกร้องกันหมด ตนไม่อยากให้ทุกคนมองเพียงแค่วิชาชีพตัวเองเท่านั้น แต่อยากให้มองว่าทุกคนมีความสำคัญต่อระบบในการดูแลสุขภาพประชาชน

Advertisement

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า การคุ้มครองผู้บริโภคถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คือ 1.ได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ  2.มีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3.ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ  4.ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ 5.ได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ทั้งนี้ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สบส.ถือเป็นองค์กรหลักในการคุ้มครองเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ปลอดภัย สมประโยชน์
1948022

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image