กรมศิลป์-สธ. “เอ็มโอยู” คุ้มครอง “ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย” ของชาติ

กรมศิลป์-สธ. “เอ็มโอยู” คุ้มครอง “ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย” ของชาติ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ห้องประชุมกรมศิลปากร นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร และ นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การคุ้มครอง อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติ ระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยฯ และกรมศิลป์ฯ

นายประทีป กล่าวว่า กรมศิลป์ฯ มีภารกิจในการคุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟูส่งเสริม สร้างสรรค์ เผยแพร่ ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทยและความมั่นคงของชาติ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการสำรวจ จัดหา รวบรวม จัดเก็บ และสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาด้านทรัพยากรสารสนเทศในรูปของเอกสารโบราณ กรมศิลป์ฯ จึงร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ จัดทำเอ็มโอยู การคุ้มครอง อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติ ในการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยที่ปรากฏในเอกสารโบราณทุกประเภท รวมถึงเอกสารสำคัญอื่นๆ และเอกสารจดหมายเหตุของชาติ โดยสนับสนุนและให้ความร่วมมือ

“ในการสำรวจ รวบรวม ตรวจสอบ บันทึกและจัดเก็บตำรับยาและตำราการแพทย์แผนไทย เช่น คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย พับสา ในส่วนภูมิภาคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ เชื่อมโยง เผยแพร่ แลกเปลี่ยน และสนับสนุนข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้บุคลากรทั้งสองหน่วยงานได้ทำการศึกษา วิจัย และแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่เก็บรักษาคัมภีร์ใบลานในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ดูแลรักษา และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากคัมภีร์ใบลาน” นายประทีป กล่าว

Advertisement

 

ด้าน นพ.มรุต กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ มีพันธกิจพัฒนาวิชาการและการบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยส่งเสริมและพัฒนาการวิจัย การจัดระบบความรู้ พัฒนาแหล่งผลิตและผลิตภัณฑ์สมุนไพร คุ้มครอง อนุรักษ์ และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นด้านบริการการแพทย์แผนไทย และสมุนไพรเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของรัฐ

Advertisement

“ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้มีการประกาศคุ้มครองตำรับยาและตำราการแพทย์แผนไทย ทั้งสิ้นจำนวน 28 ฉบับ 481 ตำรา 536 แผ่นจารึก 37, 697 ตำรับ แล้วนำเข้าสู่ขั้นตอนการรวบรวม จัดลำดับความสำคัญของตำรายา และนำไปสู่ขั้นตอนของการจัดหมวดหมู่และวิเคราะห์องค์ประกอบของตำรับยาที่มีความถูกต้อง ชัดเจน ก่อนนำไปสู่การบันทึกลงในระบบ Thai Traditional Digital Knowledge Library (TTDKL) ซึ่งเป็นระบบคลังความรู้ มีลักษณะเป็นห้องสมุด Digital ที่รวบรวมข้อมูล ภูมิปัญญาด้านสมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก และส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามารวมไว้ด้วยกัน เพื่อออกรหัสมาตรฐาน อันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถใช้เฝ้าระวัง ป้องกัน ป้องปราม การละเมิด และคุ้มครองสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในระบบทรัพย์สินทางปัญญาไทย และสอดคล้องกับระบบสากลต่อไปในอนาคต” นพ.มรุต กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image