คพ.ผนึกสถาบันมาตรวิทยาฯ ยกระดับ มาตรฐานตรวจวัดมลพิษ

คพ.ผนึกสถาบันมาตรวิทยาฯ ยกระดับ มาตรฐานตรวจวัดมลพิษ

คพ.ผนึกสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการตรวจวัดมลพิษให้มีประสิทธิภาพเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการวัดที่เป็นมาตรฐานของประเทศและเทียบเท่าสากล

วันที่ 30 กรกฎาคม นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คพ. และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติได้มีการบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านมาตรวิทยา ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะครอบคลุมในด้านการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ด้านการตรวจวัดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด ด้านการตรวจวัดคุณภาพน้ำ และด้านการตรวจวัดระดับเสียง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับหน่วยที่ปฏิบัติงานในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ จากการนำองค์ความรู้หรือแนวทางปฏิบัติในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม การตรวจวัดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด นำไปสู่การกำหนดแนวทางปฏิบัติเดียวกันทั่วประเทศ รวมทั้งการนำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือครั้งนี้ไปใช้ในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของระบบการวัดที่เป็นมาตรฐานของประเทศและเทียบเท่าสากล

นายประลอง กล่าวว่า คพ. และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นชอบร่วมกันในการพัฒนาด้านมาตรวิทยาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันในช่วง 2 ปี 2 เดือน
(30 กรกฎาคม 2563–30 กันยายน 2565) ครอบคลุม 4 ด้าน โดยจะเป็นงานใหม่และเป็นงานต่อเนื่องจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาแยกตามประเภทของมลพิษ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ด้านการตรวจวัดการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด ด้านการตรวจวัดคุณภาพน้ำ และด้านการตรวจวัดระดับเสียง

นางอัจฉรา เจริญสุข ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติสนับสนุนภารกิจของ คพ. ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่มีความเที่ยงตรง มีกระบวนการเก็บข้อมูลหรือเก็บตัวอย่างที่ถูกต้องเพื่อความถูกต้อง น่าเชื่อถือในผลการตรวจสอบและพิสูจน์ระดับมลพิษในการประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงความน่าเชื่อถือของหน่วยงาน มีผลสำเร็จแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาการสอบเทียบปรับเทียบเครื่องมือวัดและการสร้างความเชื่อมั่นของการวัด ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการสอบเทียบเครื่องมือโดยไม่ต้องส่งสอบเทียบต่างประเทศ2) ด้านการพัฒนาวิธีการตรวจวัด 3) ด้านการพัฒนาแนวทางการตรวจวัด ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการกำหนดวิธีการ กระบวนการตรวจวัดที่เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อความถูกต้องเชื่อถือได้ของผลการวัด และ 4) ด้านการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการตรวจวัด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image