กทม.เปิดตัว “ป้ายรถเมล์” โฉมใหม่ เช็ก ชาร์จ แชร์ ฟรี! ปี’64 ตั้งเป้า 350 แห่งทั่วกรุง

กทม.เปิดตัว “ป้ายรถเมล์” โฉมใหม่ เช็ก ชาร์จ แชร์ ฟรี! ปี’64 ตั้งเป้า 350 แห่งทั่วกรุง

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. นำคณะผู้บริหาร กทม.ลงพื้นที่ตรวจการติดตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะ (Smart Bus Shelter) เช็ก ชาร์จ แชร์ ได้ฟรี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ที่บริเวณด้านหน้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 เขตห้วยขวาง

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ร่วมกับ บริษัท แพลน บี มีเดีย จํากัด (มหาชน) พัฒนาและปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางรูปแบบเดิม ให้เป็นศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะรูปแบบใหม่ที่สามารถนำร่องให้ประชาชนได้ใช้เป็นแห่งแรก บริเวณแยกพระราม 9 ฝั่งเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 และกำหนดปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสารให้เป็นรูปแบบใหม่ในระยะแรก จำนวน 350 หลัง ภายในปี 2564 เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ มีความทันสมัย อีกทั้งสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชน เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมากขึ้น ลดมลพิษทางอากาศ มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน ตลอดจนสามารถบริหารจัดการเวลาในการวางแผนการเดินทาง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

Advertisement

“สำหรับศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางอัจฉริยะรูปแบบใหม่ที่ กทม.จะดำเนินการนั้น มี 2 รูปแบบ คือ แบบ ฟูล ฟังค์ชั่น (Full Function) จำนวน 100 หลัง และแบบไลท์ ฟังค์ชั่น (Light Function) จำนวน 250 หลัง โดยแบบฟลู ฟังค์ชั่น จะมีระบบบอกสายรถโดยสารประจำทาง และเวลาการมาถึงของรถโดยสารประจำทางบนจอแอลเอฟดี (LFD) ขนาด 32 นิ้ว เพื่อให้ประชาชนที่ใช้บริการสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบรักษาความปลอดภัยด้วยการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) และระบบไฟฟ้าส่องสว่าง พร้อมทั้งระบบการแสดงข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ของ กทม. บนจอแสดงผลขนาด 55 นิ้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของ กทม.” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังมีระบบชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ และฟรีไว-ไฟ (Free Wi-Fi) ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้โดยสารรถประจำทางในปัจจุบัน สอดรับกับนโยบาย Smart Bus Shelter ตามแนวคิดการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งในส่วนของไลท ฟังค์ชั่น จะไม่มีจอแสดงผลขนาด 55 นิ้ว และระบบไว-ไฟ เราจ์เตอร์ (Wi-Fi Router)

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า กทม.ยังได้พัฒนาระบบบอกเวลาการมาถึงของรถโดยสารประจำทางที่พัฒนาสำหรับแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือผ่านแอพพลิเคชั่น Via Bus เพื่อให้บริการค้นหาป้ายและสายรถโดยสารประจำทาง เส้นทางการเดินรถของแต่ละสาย การค้นหาวิธีการเดินทางแต่ละจุด การแสดงป้ายรถประจำทางที่อยู่ใกล้ที่สุด การแสดงตำแหน่ง และระยะเวลาที่จะมาถึงของรถโดยสารประจำทางที่จะผ่านแต่ละป้ายทั้งในรูปแบบของข้อความหรือแผนที่ รวมทั้งการแสดงข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการจราจรและการเดินทางอื่นๆ โดยปัจจุบันสามารถให้บริการข้อมูลตำแหน่งและระยะเวลารถที่จะมาถึงป้ายเฉพาะรถโดยสารของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ที่ติดสัญญาณจีพีเอส (GPS) เท่านั้น และอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อมูลให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

Advertisement

“วันนี้เป็นวันแรกที่กรุงเทพฯ จะมีป้ายรถประจำทางแบบอัจฉริยะ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีป้ายรถประจำทางอยู่แล้วกว่า 5,000 หลัง และสามารถใช้การประมาณ 3,000 หลัง กทม.จึงพยายามที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยร่วมมือกับ ขสมก. ซึ่งให้บริการรถโดยสารประจำทางรวมจำนวนกว่า 3,000 คัน และรถร่วมบริการอีกประมาณ 3,000 คัน พัฒนาป้ายรถประจำทางอัจฉริยะนำร่องจุดแรกเพื่อศึกษาถึงข้อบกพร่องต่างๆ แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีและทันสมัยขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ประชาชนชาวกรุงเทพฯ หรือผู้ที่จะต้องอาศัยรถประจำทางในการเดินทาง โดยป้ายรถประจำทางอัจฉริยะนี้พร้อมให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้ที่รอรถโดยสาร อาทิ ที่ชาร์จสำหรับโทรศัพท์ ระบบไว-ไฟ กล้อง ซีซีทีวี เชื่อมต่อระบบไปยังศูนย์บริหารจัดการกล้องซีซีทีวีของ กทม.และของสถานีตำรวจ” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า จะดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนของกันสาด และส่วนของด้านหลังป้ายเพื่อกันฝนให้ผู้โดยสารขณะรอรถ โดยภายใน 1 ปี จะติดตั้งป้ายรถแบบฟูล ฟังค์ชั่น ให้ได้ 100 หลัง และแบบไลท์ ฟังค์ชั่น อีก 250 หลัง ภายในปี 2563 คาดแล้วเสร็จ 200 หลัง และภายในเดือนเมษายน 2564 จะสามารถติดตั้งครบทั้ง 350 หลัง โดยจะดำเนินการติดตั้งป้ายรถประจำทางแบบอัจฉริยะในจุดที่มีประชาชนใช้บริการรถประจำทางเป็นจำนวนมาก และขยายโครงข่ายให้ทั่วกรุงเทพฯ ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image