“หมอยง” ชี้เหตุพบ “โควิด-19” สายพันธุ์จีมาก เพราะเชื้อเปลี่ยนแปลง ทำให้กระจายเร็วแต่ไม่รุนแรง

“หมอยง” ชี้เหตุพบ “โควิด-19” สายพันธุ์จีมาก เพราะเชื้อเปลี่ยนแปลง ทำให้กระจายเร็วแต่ไม่รุนแรง
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์และระดับความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์จี (G) แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน และหนามแหลม แต่ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์จีมีอาการรุนแรงมากขึ้น เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้นและง่ายขึ้น ทำให้เป็นสายพันธุ์ที่พบมากในปัจจุบันเท่านั้น

ทั้งนี้ข้อความระบุว่า

โควิด 19 สายพันธุ์ G
สายพันธุ์ไวรัสที่เรียกว่าสายพันธุ์ G หรือมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน
จากเดิมคือ Aspartate (D) ในตำแหน่งที่ 614 ของ spike โปรตีน หรือเรียกว่า D614 ไปเป็น Glycine เรียกว่า G614 คือกรดอะมิโนของ spike หรือหนามแหลมที่ยื่นออกมา ในตำแหน่งที่ 614 จากสายพันธุ์เดิม
ถ้าตรวจพบว่าเป็น Glycine ก็จะเรียกว่า G type
การเปลี่ยนกรดอะมิโนตัวเดียว ไม่ได้ทำให้รูปร่าง ของโปรตีน spike เปลี่ยนแปลงไป
แต่การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งนี้ มีผลทำให้ ปลดปล่อยไวรัสหรือแพร่กระจายไวรัสออกมา ได้มากขึ้น (ดังแสดงในรูป ที่ลงพิมพ์ในวารสาร Cell)
พบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ โรคไม่ได้รุนแรงขึ้น แต่มีการแพร่กระจายเชื้อได้มากขึ้น
ทำให้ไวรัสสายพันธุ์นี้แพร่กระจายไปได้มากกว่า
ตามหลักวิวัฒนาการ จึงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน
สายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้น้อยกว่า ก็จะถูกเบียดบังให้น้อยลงไป
ระบบภูมิต้านทานของโปรตีนใน spike หรือหนามแหลมที่ยื่นออกมาเป็นส่วนที่กระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทาน
รูปร่างไม่ได้เปลี่ยนแปลง ภูมิต้านทานจากวัคซีน ที่ผลิตกันอยู่ ก็สามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็น type ไหนของไวรัส
ภาพข้างล่างนี้นำมาจากวารสาร Cell, Korber et al., 2020 Cell 182,1-16 (under the CC BY-NC-ND license)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image