ศบค.เผยจ่ออนุญาต ‘ครอบครัวต่างด้าว’ เข้าปท. คาดกว่า 4,500 โรงเรียน พร้อมเปิดสัปดาห์หน้า
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) แถลงถึงมาตรการและข้อกำหนดในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ ศบค.ออกคำสั่งเป็นประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ช่วงเช้าวันนี้ มีการหารือในที่ประชุม ศบค. โดยตัวแทนของกระทรวงแรงงานได้นำเสนอมาตรการที่จะนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เข้าประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่หน้าด่านเข้าประเทศ หากมีผลบวกจะไม่อนุญาตให้เข้า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีความต้องการใช้แรงงานกว่าแสนคนก็ตาม แต่ก็จะไม่ให้มีการนำเชื้อเข้ามา หากผู้ที่ไม่มีเชื้อ เมื่อเข้ามาจะต้องเข้าสถานกักกันโรคในท้องถิ่น (Local Quarantine) หรือ สถานที่ที่เป็นสถานกักกันโรคโดยหน่วยงาน (Organizational Quarantine: OQ) จนครบ 14 วัน จะต้องตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง คือ ช่วงวันที่ 3-5 และ วันที่ 11-13 ของการเข้าพัก
“ในความพร้อม หากตรงไหนมีความพร้อม และมีมาตรฐานในการเข้าสถานกักกันโรคฯ ศบค.ได้มีการอนุญาตในหลักการ และได้ออกคำสั่งในข้อกำหนดของราชกิจจานุเบกษา ถามว่าจะเข้ามาเมื่อไร สิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องได้มาตรฐาน ดูแลอย่างดี ถึงจะให้เข้า ดังนั้น อยากจะเรียนว่า เราทำทุกวิถีทาง แต่มีความกังวลในแรงงานผิดกฎหมาย ลักลอบเข้ามา ต้องขอแรงประชาชนตามขอบชายแดนเป็นหูเป็นตาแทนเรา หากพบเห็นแล้วไม่มั่นใจ ขอให้แจ้งทางการแต่ละจังหวัดที่มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และมีสาธารณสุขจังหวัด เป็นเลขาฯ เพื่อเป็นการสอดส่องดูแล ให้มั่นใจว่าระบบแรงงานในประเทศดี” โฆษก ศบค.กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ได้ทราบว่า แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยหลายร้อยราย มีการร้องขอกลับประเทศต้นทาง เพราะไม่มีงานทำ วันนี้จึงได้หารือกับกระทรวงแรงงานว่า หากรับทราบข้อมูลชุดนี้แล้ว เหตุใดจะต้องรับแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา ใช้แรงงานที่อยู่ในประเทศที่เขาอยู่มามากกว่า 14 วัน ซึ่งถือว่าปลอดเชื้อพอสมควร น่าจะได้รับการขึ้นทะเบียน มีงานทำต่อ ต้องเอา 2 อย่างนี้มาเจอกัน และนำชุดข้อมูลรวบรวมมาอยู่ในการประชุม ทำให้ผู้ที่ต้องการแรงงาน ได้ใช้แรงงานเหล่านี้ได้ ผู้ที่เป็นแรงงานก็จะได้งาน หากมีรายละเอียดอย่างไร จะมีการนำเสนอเพิ่มเติม และในกรณีที่มีคำถามว่า ให้คนต่างด้าวเข้ามา แต่ไม่ให้ครอบครัวเข้ามา ขณะนี้มีการออกข้อกำหนดใหม่แล้วว่า อนุญาตให้คู่สมรสและบุตรของบุคคลเหล่านั้นเข้ามาได้แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กิจการ/กิจกรรม เช่น สนามชนโค สนามกัดปลา บ้านบอล จะเปิดได้เมื่อไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ ศบค.ออกประกาศ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม เรื่อง ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยข้อที่ 2 ได้ประกาศไปแล้วว่า ให้สถานที่กิจการ/กิจกรรมที่เคยผ่อนคลาย หรืออนุญาตให้เปิดดำเนินการไว้แล้วคงดำเนินการได้ต่อไป ตามที่ ศบค.ได้หารือกันช่วงก่อนหน้านี้ ได้แก่
1.การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ที่ได้เคยผ่อนคลายไว้แล้ว เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งอนุญาตให้เป็นกองถ่ายจากต่างประเทศเข้ามาได้
2.เครื่องเล่น บ้านลม บ้านบอล หรือเครื่องเล่นอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน อนุญาตให้มีการติดตั้งถาวร มีความมั่นคงสูงและถูกกฎหมาย ซึ่งลักษณะที่มีการเคลื่อนย้ายไปตามตลาดนัด สถานที่ต่างๆ ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
3.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีอำนาจพิจารณาให้สนามชนโค สนามชนไก่ สนามกัดปลา หรือสนามแข่งขันอื่นในลักษณะเดียวกัน สามารถเปิดและดำเนินการได้ตามความเหมาะสม หรือเมื่อมีความพร้อม หากเปิดมาแล้วดำเนินการป้องกันโรคไม่ดี ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งปิดได้
“อย่างไรก็ตาม จะมีคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมี เลขา สมช. เป็นประธาน คณะกรรมการเป็นปลัดกระทรวงต่างๆ จะเป็นอีกคณะหนึ่งที่เข้ามาดูแลภาพรวม จัดการปัญหาเล็กๆ น้อยๆ และเพื่อพิจารณาแทน ศบค.ชุดใหญ่ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีภารกิจอีกมากมาย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าวและว่า ในขณะนี้ได้ข่าวว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ประชุมกันว่าจะอนุมัติให้มีการดูแลตรงนี้ ขณะเดียวกัน ก็ให้อำนาจว่าหากทำไม่ดีก็ต้องปิด เพราะหากมีการแข่งกัน ส่งเสียง ไม่สวมหน้ากาก มีความเสี่ยงต่างๆ เกิดขึ้น ผู้ที่จัดกิจกรรมและสถานที่ดังกล่าวจะต้องมีการป้องกันโรค พนักงานเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปราม และมีอำนาจกำหนดช่วงระยะเวลาเพื่อปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งเสนอให้ผู้มีอำนาจสั่งปิดไว้เป็นการชั่วคราวและดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนได้
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้ปกครองถามว่าโรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติแล้วหรือไม่ เนื่องจากถามไปยังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งกลับมาว่า ศบค.ยังไม่อนุญาต นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ประชุมในช่วงเช้านี้ได้คุยกันว่า โรงเรียนกว่า 4,500 แห่ง ที่จะต้องสลับเวลาเรียนกัน เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ โดย ศธ.จะมีการประชุมในวันนี้ เพราะว่าในจำนวน 4,500 แห่ง ไม่ได้ขึ้นกับ ศธ.เพียงอย่างเดียว เช่น โรงเรียนวัด ที่อยู่ในสังกัดสำนักพุทธศาสนา โรงเรียนเอกชน จะต้องขออนุญาตเข้ามาเป็นชุด ซึ่ง ศบค.ชุดเล็ก มอบให้ ศธ.เป็นผู้ให้ข่าวแก่ประชาชนเพื่อรับทราบข้อมูล หากต้นทางสร้างความมั่นใจในการควบคุมโรคได้ก็จะมีการดำเนินการทันที และขณะนี้มีกรรมการชุดเฉพาะกิจ ไม่ต้องรอ ศบค.ชุดใหญ่ ก็สามารถอนุมัติได้โดยเร็ว โดยให้ ศธ.รวบรวมข้อมูลมาโดยด่วน คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ หากรวบรวมได้ก็จะเข้าสู่กรรมการชุดเฉพาะกิจ และสัปดาห์หน้าก็จะได้ทำการเปิดได้