ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ชี้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง ทำให้ไทยพ้นวิกฤต

สัมภาษณ์พิเศษ ‘นพ.แดเนียล เคอร์เทซ’ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย ระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง ทำให้ไทย ‘พ้น’ วิกฤต

หมายเหตุ- นพ.แดเนียล เคอร์เทซ (Daniel Kertesz) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน “โรคติดต่อ” ชาวแคนาเดียน มีประสบการณ์ทำงานกับองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ในประเทศมาลี รวมถึงเป็นผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศกินี บิสเซา และประเทศกานา ก่อนจะย้ายมาเป็นผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2559

เพื่อให้ภาพแห่งความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทยในมุมมองจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ชัดขึ้น นพ.แดเนียลได้บอกเล่าถึง “จุดแข็ง” และความท้าทายสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย และระบบสาธารณสุขโลกหลังจากนี้ ด้วยคำถามแบบเจาะประเด็น

00คุณเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าระบบสาธารณสุขไทยมีจุดแข็งหลายประการ ที่ทำให้เรารอดพ้นวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 อะไรคือจุดแข็งเหล่านั้น?

Advertisement

ปัจจัยสำคัญก็คือ ระบบสุขภาพของไทย ในช่วงก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เข้มแข็งอยู่แล้ว และทำให้รัฐบาลสามารถจัดการกับโรคระบาดได้ดี

จุดแข็งก็คือ ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่แข็งแรง และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งถือเป็น “ความมั่นคง” ของระบบสาธารณสุข ที่สามารถลดช่องว่างระหว่างประชาชนและระบบบริการสาธารณสุข ทำให้สามารถรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ได้ดี แน่นอน ระบบพวกนี้ ไม่สามารถสร้างได้ในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

Advertisement

สำหรับไทย ระบบสุขภาพมีรากฐานที่ยาวนาน ด้วยระยะเวลายาวนานกว่า 40 ปี ด้วยองค์ประกอบสำคัญ ตั้งแต่ “เจตจำนง” ทางการเมือง, การลงทุนที่ต่อเนื่อง, การพัฒนาคุณภาพการบริการ-การรักษา, เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ

เรื่องระบบสุขภาพนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะสามารถจัดการได้รวดเร็ว เพราะต้องเกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม หลายอาชีพ และต้องสอดคล้องกับบริบทของประเทศ การที่ไทยมีประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการพัฒนาระบบมาอย่างต่อเนื่อง-ยาวนาน ก็ทำให้ระบบของไทยก้าวหน้ามากพอจะเป็น “บทเรียน” สำหรับประเทศอื่นได้

00ในความเห็นคุณ อะไรที่ทำให้นโยบายสุขภาพของไทย มีความโดดเด่น เมื่อเทียบกับประเทศอื่น?

ที่ต้องยอมรับก็คือ นโยบายสุขภาพของไทยนั้น เป็นนโยบายที่ออกแบบโดยอาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ โดยมีองค์กรอย่าง โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำงานเรื่องพวกนี้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องไปอิงกับโครงสร้าง หรืออิงตัวอย่างจากประเทศอื่น ทำให้ไทยได้นโยบายชั้นเลิศ

ขณะเดียวกัน ผมยังเห็นบทบาทของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งฝ่ายสนับสนุนเหล่านี้ ต้องยอมรับว่าด้วยระบบที่เซตไว้ สามารถกวาดลงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้ดี

ทั้งเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ทั้ง อสม.นั้น แต่ละคนตั้งใจทำงานมาก ซ้ำยังได้รับความเชื่อถือจากคนในชุมชน ซึ่งทำให้เรื่องยากๆ อย่างการส่งผ่านนโยบายลงไปสู่ระดับปฏิบัติ หรือเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น สามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่าในไทย

อีกหนึ่งเรื่องที่ผมมองเห็นก็คือ “ระยะห่าง” ระหว่างหมอ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข กับคนไข้ ในไทยนั้นน้อยมาก ซึ่งความสัมพันธ์นี้นำไปสู่ความ “ไว้เนื้อเชื่อใจ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์จากการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ยาวนานกว่า 40 ปี

00เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไทยเป็นผู้นำมาตลอดก่อนหน้านี้ ยังคงได้รับความสนใจในระดับโลกอยู่หรือไม่?

ต้องบอกว่า ไทยเป็นผู้นำเรื่องนี้มาโดยตลอด และยังคงทำหน้าที่นี้อย่างต่อเนื่อง จุดเด่นก็คือ คนที่ทำหน้าที่นี้ “เข้าใจ” ว่าวาระด้านสุขภาพของโลกคืออะไร และพาไทยไปยืนอยู่ในเวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ใช่เฉพาะในองค์การอนามัยโลกเท่านั้น แต่ในสหประชาชาติ (United Nations: UN) ไทยก็มีบทบาทสำคัญ โดยใช้เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นตัวนำ

00ในช่วงเวลา “หลังโควิด-19” การลงทุน และการผลักดันให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามแผนพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ยังมีความสำคัญ และมีความจำเป็นอยู่หรือไม่?

แน่นอน คุณไม่สามารถ “ตอบโต้” กับโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่มีระบบที่แข็งแรง เพราะถ้าประชาชนต้องจ่ายเงิน เพื่อ “เข้าถึง” บริการสุขภาพนั้น เขาจะมีระยะห่างอย่างมากกับระบบบริการ และพวกเขาจะไม่เชื่อมั่น ในระบบ หากต้องจ่ายเงินแพงๆ ในการรักษาตัว

ต้องไม่ลืมว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 นั้น เราก็ยังต้องรักษาโรคอื่นๆ ระบบบริการก็ยังต้องให้บริการตามปกติด้วย เพราะฉะนั้น การมีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ดี ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และ “ราคา” ค่าบริการที่สมเหตุสมผลนั้น ก็ยังมีความสำคัญ และยังต้องผลักดันการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ดีขึ้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

00ในความเห็นคุณ ช่วงเวลาหลังจากนี้ วาระ-นโยบาย ด้านสุขภาพระดับโลก จะเดินไปทางไหน และจะเป็นอย่างไรต่อ?

ผมหวังว่าบทเรียนสำคัญก็คือ แต่ละประเทศทั่วโลกนั้น ไม่สามารถที่จะสร้างระบบสุขภาพที่เข้มแข็งได้ ในขณะที่เกิดโรคระบาดไปแล้ว

นั่นหมายความว่า คุณต้องมีขีดความสามารถในการเตรียมความพร้อมกับโรคระบาดที่เข้มแข็ง เพราะพอเริ่มมีการระบาด คุณต้อง “เทสต์” จำนวนมาก คุณต้องกักบริเวณ แยกผู้ติดเชื้อ แยกผู้สัมผัสโรค และสร้างระบบรองรับผู้ป่วยขนาดใหญ่

วาระด้านสุขภาพระดับโลกหลังจากนี้ ก็คือการสร้างระบบเหล่านี้ เพราะโคโรนาไวรัส 2019 ได้สร้างบทเรียนครั้งสำคัญ ฝังไว้กับโลกแล้วว่า คุณต้องลงทุนเพื่อจัดโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่งเท่านั้น จึงจะสามารถจัดการกับโรคนี้ได้

00ความท้าทายหลังจากนี้ทั่วโลก ในการวางระบบสาธารณสุข และพัฒนานโยบายสาธารณสุขคืออะไร?

ต้องไม่ลืมว่าวิกฤตครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความเสียหายด้านสุขภาพ-ชีวิตคนอย่างเดียว แต่ระบบเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้น การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุข จะถูก “ตั้งคำถาม” มากว่ามีความจำเป็นอย่างไร ในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง

00พูดถึงการระบาดระลอกที่ 2 ในไทย คุณคิดว่ามีความเป็นไปได้มากขนาดไหน และไทยจะสามารถรับมือได้หรือไม่?

ผมคิดว่าไทยเองเป็น “เหยื่อ” จากความสำเร็จในการรับมือโรคระบาดที่ได้ผลดีรอบแรก คนไทยจำนวนมากเชื่อว่าได้ผ่านช่วงเวลาของการระบาดหนักไปแล้ว แต่คุณต้องไม่ลืมว่าออสเตรเลีย เวียดนาม นิวซีแลนด์เอง ก็พบกับการระบาด Second Wave ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเผชิญหน้าเรื่องนี้เช่นกัน

หากจะมีการระดมเทสต์ กักบริเวณ หรือหากจะมีการ “ล็อกดาวน์” ปิดกั้นพื้นที่รอบใหม่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำ คนไทยจะยังต้องอยู่กับสภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆ และหากเกิดการระบาดระลอกสอง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะยังคงเป็นความท้าทายสำคัญ ในห้วงเวลาที่ทั่วโลก ยังคงมีการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ และยังไม่มีวิธีการจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ผมคิดว่าไทยจะสามารถจัดการได้ดี แต่สิ่งที่จะท้าทายมาก หากมีการระบาดระลอกใหม่ ก็คือการ “ล็อกดาวน์” การปิดกั้นพื้นที่นั้น จะต้องเคร่งครัดมากขนาดไหน ต้อง “ตึง” มากเพียงใด เพราะมาตรการเหล่านี้ มีผลกระทบทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตคนทุกระดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image