แพทย์แจงปมชายไทยโดดตึกช่วงกักตัว รร.ดังพัทยา ยันไม่พบประวัติป่วยทางจิต

แพทย์แจงปม ชายไทยโดดตึกระหว่างกักตัว รร.ดังพัทยา ยันไม่พบประวัติป่วยทางจิต

กรณีผู้เข้าพักในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) กระโดดลงจากตึกระหว่างการกักกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จากข้อมูลเบื้องต้น เป็นชายไทย เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล และเข้าพักในโรงแรมดังแห่งหนึ่งในเมือง พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม โดยหลังจากเข้าพักเพียง 1 วัน บุคคลดังกล่าวได้กระโดดลงมาจากอาคารพักอาศัยภายในสถานกักกันโรคฯ และเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ อยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ทราบสาเหตุการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม มาตรการของกรมสุขภาพจิต มีแนวทางการดูแลผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้าพักในสถานกักกันโรคฯ (Quarantine) ก่อนเดินทางมาถึงจะมีการประเมินบนเครื่องบินเพื่อหาประวัติสุขภาพจิตและความเสี่ยง ได้แก่ การประเมินความเครียด (ST-5) ภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้า (2Q) (9Q) และความเสี่ยงต่อภาวะการฆ่าตัวตาย (8Q) เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยในช่วง 1-2 วันแรก ทางทีมงานสุขภาพจิตจะพยายามไม่เข้าไปรบกวนผู้เข้าพัก เพื่อการปรับตัว โดยหลังจากนั้นช่วงวันที่ 3-5 จะเริ่มทำการประเมินสุขภาพจิตควบคู่กับสุขภาพกาย โดยศูนย์สุขภาพจิตร่วมกับโรงพยาบาล (รพ.) คู่ขนานที่รับผิดชอบในการดูแลสถานกักกันโรคฯ นั้นๆ

“มีโปรแกรมสำหรับฝึกสมาธิในระยะเวลา 14 วันที่กักตัว การทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านการสื่อสารด้วยเครื่องมือ เช่น แอพพลิเคชั่นไลน์ การโทรศัพท์ส่วนตัว การทำแบบประเมินความเสี่ยงด้วยคิวอาร์โค้ด และในห้องพักจะมีคู่มือคำแนะนำในการลดความเครียด เช่น การออกกายบริหาร วิ่ง/เดินเบาๆ ภายในห้องพัก และถ้าเกิดปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อกับทีมดูแลได้ตลอดเวลา หากพบว่ามีผู้เข้าภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพจิต ก็จะต้องส่งตัวมายัง รพ.จิตเวชในพื้นที่เพื่อรักษา ทีมแพทย์ในสถานกักกันโรคฯ ต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ประสานงานคู่กันกับ รพ.คู่ขนาน” นพ.สมัย กล่าว

นพ.สมัย กล่าวว่า กรณีของผู้เสียชีวิตรายดังกล่าว เบื้องต้นไม่มีรายงานปัญหาสุขภาพจิต ทางทีมดูแลจึงใช้วิธีการตามแนวทางดังกล่าวตามปกติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ส่งทีมแพทย์ลงไปดูแลเยียวยาจิตใจของญาติและคนในครอบครัวของผู้เสียชีวิตแล้ว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงอยากแจ้งกับทางญาติของผู้เดินทางกลับเข้าประเทศไทยและต้องเข้าพักในสถานกักกันโรคฯ ว่า หากมีความกังวลหรืออยากให้ดูแลด้านจิตของผู้เดินทางรายใดเป็นพิเศษ สามารถแจ้งข้อมูลมาได้ที่สายด่วน 1323 เนื่องจากในแต่ละวันมีผู้เดินทางเข้ามาจำนวนมาก การได้รับข้อมูลจากทางญาติก็จะทำให้ทีมดูแลได้เข้าไปดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.สมัย กล่าวว่า ในช่วงแรกพบปัญหาความเครียดในผู้เข้าพักฯ คือ การกลัวสังคมตีตรา ทั้งในส่วนของญาติที่อยู่ภายนอกก็ถูกสังคมรังเกียจ ที่เกิดจากความตื่นตระหนก จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจว่าอยู่ที่พักในสถานกักกันโรคฯ ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ และในจำนวนผู้เข้าพักฯ พบว่าติดเชื้อน้อยมาก ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ไม่มีการติดเชื้อ และเมื่อพักครบ 14 วัน และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบการติดเชื้อ ก็สามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในช่วงหลังพบว่าปัญหาดังกล่าวลดลงมาก เนื่องจากสังคมรับรู้และมีความเข้าใจมากขึ้นแล้ว นอกจากนี้ยังพบปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาโรคประจำตัว การคลอดบุตร และภาวะการติดสุรา เนื่องจากเมื่อเข้าพักฯ จะไม่สามารถดื่มสุราได้ จึงเกิดอาการลงแดง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้เสียชีวิต คือ นายพล พรมงาม ภูมิลำเนา ต.บ้านยาง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เพิ่งเดินทางกลับจากการประกอบอาชีพแรงงานจากประเทศอิสราเอล เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 25 สิงหาคม เดินทางกลับถึงประเทศไทย เที่ยวบิน 6H 691 หลังจากนั้นได้เดินทางพร้อมคณะ จำนวน 168 คน แยกเข้าห้องพักในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐที่กำหนด คือ โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี และในวันถัดมา เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เวลา 16.00 น. นายพล ได้กระโดดลงมาจากอาคารพักอาศัยภายในสถานกักกันโรคฯ และเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ เบื้องต้นร่างผู้เสียชีวิตถูกนำส่งไปยัง รพ.บางละมุง และอยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ทราบสาเหตุการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image