เฮลท์แคร์2020 แพทย์ขอพูด “มะเร็งปากมดลูก” ป้องกันได้ ไม่ควรมีผู้หญิงคนไหนต้องป่วย

เฮลท์แคร์2020 แพทย์ขอพูด “มะเร็งปากมดลูก” ป้องกันได้ ไม่ควรมีผู้หญิงคนไหนเป็นต้องป่วย

เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่ งาน Healthcare2020 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เวทีเสวนา Health Talk ในหัวข้อ “มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้ด้วยวัคซีน HPV” โดย นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสังคม คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถิติการป่วยด้วยโรคมะเร็งในเพศหญิงมากกว่าชาย เนื่องจากมีอวัยวะที่พบเซลล์มะเร็งได้มากกว่าชาย โดยมะเร็งที่สำคัญคือ “มะเร็งปากมดลูก” เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี(Human papillomavirus :HPV) สูงถึงร้อยละ 99 เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ และไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม แต่สามารถป้องกันได้ด้วย 1.การลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ซึ่งการเปลี่ยนคู่นอนและมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก 2.ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และ 3.ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ส่วนของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสมัยก่อนมีวิธีที่ค่อนข้างไม่สะดวก เช่น การใช้น้ำส้มสายชู(VIA) ป้ายบริเวณปากมดลูกเพื่อดูสีของเนื้อเยื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เป็นวิธีที่ค่อนข้างทำให้ผู้ได้รับการตรวจมีอาการแสบร้อน ต่อมาพัฒนาเป็นวิธีตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) ด้วยการนำเครื่องมือสอดไปป้ายเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก มาตรวจทางห้องปฏิบัติการ แต่สามารถตรวจพบเพียงร้อยละ 50 คือ ผู้รับการตรวจ 100 ราย จะพบเชื้อไวรัสเพียง 50 ราย

นพ.ณัญวุฒิ กล่าวต่อว่า ซึ่งปัจจุบันมีวิธีคัดกรองที่ง่ายและรวดเร็วคือ การตรวจด้วย HPV DNA testing ขั้นตอนเหมือนการตรวจภายในทั่วไป แต่มีความไวในการตรวจถึงร้อยละ 95 เนื่องจากเป็นการตรวจในระดับของดีเอ็นเอ โดยขณะนี้นโยบายของประเทศไทย คือ การให้ผู้หญิงไทยทุกคน ตั้งแต่อายุ 30-60 ปี สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ปีละ 2 ล้านราย ซึ่งราคาปกติในการตรวจราว 1,600-2,000 บาท แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการค่าใช้จ่ายจะอยู่ในหลักร้อยบาท

“เน้นว่าการป้องกันง่ายกว่ารักษา โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนี้เริ่มเมื่อกลางปี โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมมือกับ สปสช.และหน่วยบริการอื่นๆ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าลงทะเบียนได้ที่แอพพลิเคชั่น สปสช. แล้วเลือกการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่เมื่อตรวจเจอเชื้อเอชพีวีแล้วไม่ได้เป็นมะเร็งทันที แพทย์จะต้องทำการส่องกล้องเพื่อหาเชื้อมะเร็งต่อไป ในส่วนของวัคซีนเอชพีวีทุกตัวสามารถป้องกันไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16,18 ได้ เน้นฉีดในวัยที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อประสิทธิภาพที่สูงสุด เกือบ 100% โดยอายุต่ำกว่า 15 ปี จะฉีดเข็มเพียง 2 เข็ม แต่อายุเกิน 15 ปีขึ้นไปฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายฉีดวัคซีนในเด็กหญิง ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ซึ่งมีผลข้างเคียงเล็กน้อยคือ ปวดบริเวณแผล มีไข้ราว 10% ส่วนที่เหลือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดหัว แต่จากการศึกษาวัคซีน ผู้ที่ได้วัคซีนหลอกก็มีผลข้างเคียงที่คล้ายกัน แต่ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง คำแนะนำหลังฉีดคือ นั่งหรือนอนหลังฉีดทันที ประมาณ 5-15 นาที ป้องกันอาการเป็นลมได้” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

Advertisement

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า อัตราการแพ้วัคซีนเอชพีวีอย่างรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต มีเพียง 1 ใน 1,000,000 ซึ่งเทียบเท่ากับอัตราแพ้ยาทั่วไป ดังนั้นจึงไม่อยากให้กลัวการฉีดวัคซีน ในรายงานของสหรัฐอเมริกาที่ฉีดไปแล้วมากกว่า 100 ล้านโดส แต่ยังไม่มีรายงานเสียชีวิตเพราะวัคซีนโดยตรง แต่อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ฉีดให้หญิงตั้งครรภ์ แต่หากฉีดไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำแท้งเพราะไม่มีผลต่อเด็กในครรภ์ ที่สำคัญคือวัคซีนเอชพีวี ไม่ต้องฉีดกระตุ้น เพราะมีประสิทธิภาพนานถึง 10 ปี นโยบายวัคซีนเอชพีวีของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561-2563 ฉีดในเด็กหญิงไปแล้วเกือบ 1 ล้านราย ส่วนคำถามว่าวัคซีนเอชพีวี ปลอดภัยจริงหรือไม่ รายงานของสหรัฐอเมริกามีการวิจัยกลุ่มตัวอย่างกว่า 5 หมื่นราย พบว่ามีผู้เสียชีวิตหลังจากฉีดไปแล้ว 183 ราย แต่ไม่มีสาเหตุที่เกี่ยวกับวัคซีน เช่น เมื่อฉีดไปแล้วเกิดอุบัติเหตุรถชน ฆ่าตัวตาย ถูกฆาตกรรม ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ส่วนของประเทศไทยมีรายงานล่าสุดในเด็กหญิงชั้น ป.5 แต่ไม่ขอพูดถึง เพราะต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม

“วัคซีนมีความปลอดภัยสูงมาก มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ส่วนเพศชายก็มีความเสี่ยงต่อมะเร็งที่เกิดจากไวรัสเอชพีวีเช่นกันแต่ไม่ใช่ที่มดลูก เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งรูทวาร มะเร็งช่องคอ มะเร็งปากมดลูกที่มะเร็งที่ป้องกันได้ ไม่ควรมีผู้หญิงคนไหนเป็นมะเร็งปากมดลูก และขอย้ำว่าการป้องกันง่ายกว่าการรักษา ซึ่งการป้องกันทำได้ด้วย 1.ลดพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ 2.ฉีดวัคซีนเอชพีวี และ 3.การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แพทย์ต่างคิดเหมือนกันว่าอยากให้มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่หายากในเมืองไทย แพทย์จะได้ไม่ต้องมารักษามะเร็งที่สามารถป้องกันได้” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

Advertisement

นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร

 

ด้าน นพ.รัฐพล กล่าวว่า สปสช. ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ทำโครงการวิจัยเพื่อกระจายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปทั่วประเทศด้วยวิธีการคัดกรอง HPV DNA testing แต่ข้อจำกัดที่วิธีดังกล่าวมีราคาสูง ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก อาจจะต้องเป็นวิธีการตรวจด้วยแปปสเมียร์ แต่คาดว่าอีกไม่นานจะครอบคลุมทั่วประเทศ โดย สปสช. กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้กันงบประมาณ 200 ล้านบาท/ปี เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย 2 ล้านรายด้วย HPV DNA testing ต่อมาในส่วนของวัคซีนเอชพีวีนั้น ประเทศไทยโชคดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และมีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ จะทำหน้าที่ศึกษาเพื่อระบุว่าวัคซีนตัวใดที่คนไทยควรได้รับ เสนอมาที่สปสช. เพื่อให้จัดสรรงบประมาณ โดยขณะนี้ได้จัดสรรงบประมาณปีละ 400 ล้าน เพื่อฉีดวัคซีนเอชพีวีให้เด็กหญิงประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 จำนวน 400,000 ราย/ปี

“ทั่วโลกต้องการวัคซีนเอชพีวีจำนวนมาก ดังนั้นในปี 2563 มีโควิด-19 วัคซีนตัวนี้จึงขาดแคลนมาก แต่มีหลายบริษัทเสนอมาแล้วสำหรับปี 2564 โดยตั้งเป้าว่าเด็กหญิง ป.5 ทุกโรงเรียนจะได้รับการฉีดวัคซีนเอชพีวี 4 สายพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ ในหลายประเทศพบว่าเด็กชาย ก็สามารถเป็นมะเร็งที่มีไวรัสเอชพีวีเป็นต้นเหตุได้ เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปาก หูดหงอนไก่
โดยประเทศไทยเองกำลังศึกษาเพื่อจะฉีดให้เด็กชาย ว่าจะคุ้มค่าไหม แต่หากจะต้องใช้ 200 ล้านบาท ก็อาจไม่คุ้มค่า แต่วิธีที่เหมาะสมกับเด็กชายคือ ซึ่งเด็กชายอาจไม่รู้ว่าตนเองเป็นพาหะนำเชื้อได้ ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นเด็กชายต้องเป็นสุภาพบุรุษ ไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หากเลี่ยงไม่ได้ต้องป้องกันด้วยถุงยาง ซึ่งสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ ติดเชื้อ และป้องกันเด็กหญิงที่นำเชื้อแพร่ออกไปได้” นพ.รัฐพล กล่าว

นพ.รัฐพล กล่าวต่อว่า ไวรัสแอบแฝงในร่างกาย ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ต้องสม่ำเสมอทุก 5 ปี ในกลุ่มผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ เมื่อในอายุ 30 ปี ควรตรวจคัดกรอง แต่หากผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรคัดกรองตั้งแต่อายุ 21 ปี แพทย์มีรายงานว่าพบมะเร็งปากมด ในผู้ป่วยอายุน้อยที่สุด 16 ปี เพราะ มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่ 11 ปี หรือ ป.5 แต่มะเร็งปากมดลูก รู้เร็ว รักษาเร็ว รักษาหายขาดได้ ทั้งนี้ สปสช. เป็นหน่วยงานร่วมกับรัฐบาล ที่ขับเคลื่อนระบบสุขภาพประเทศไทย จนได้รับคำชื่นชมอย่างมาก ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญ มีระบบคัดกรองโรค แต่อย่างไรก็ตามประชาชนทุกคนต้องดูแลสุขภาพตัวเอง ทำความสะอาดร่างกาย ดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันโรค

ผู้สนใจเข้าร่วมงานเฮลท์แคร์2020 สามารถเดินทางอย่างสะดวกโดยทางด่วนและรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที(MRT) สถานีสามย่าน ทางออกที่ 2 สำคัญที่สุดในการเข้าร่วมงานต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนมาเพื่อรับสิทธิ์ในการตรวจสุขภาพภายในงาน

ทั้งนี้การจัดงานเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)(ศบค.) กำหนด โดยคัดกรองอุณหภูมิร่างกายของผู้เข้าร่วมงาน ตั้งจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และผู้เข้าร่วมในงานจะต้องสวมหน้ากากอนามัย/ผ้าเพื่อป้องกันตนเองตลอดเวลาขณะเข้าร่วมงาน

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image