“รพ.เพชรเกษม2″ร้องนายกฯช่วย เหตุถูก”สปสช.”ชะลอโอนเงินทุกกองทุนกว่า 26 ล.-ชี้ไม่ชอบธรรม

เมื่อวันที่ 9 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พญ.ขณิดา บัวขาว ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)เพชรเกษม 2 และดร.นพ.จอมศักดิ์ สุรกิจบวร กรรมการผู้จัดการบริษัท เพชรเกษมการแพทย์ จำกัด ผู้ประกอบกิจการ รพ.เพชรเกษม 2 ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ส่งผลกระทบเสียหายต่อรพ.เพชรเกษม 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือระบุว่า ตามที่คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร (อปสช.) ประชุมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ปรากฏความว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 13 กรุงเทพฯ จะยกเลิกสัญญาให้บริการสาธารณสุข กับคลินิกชุมชน 63 แห่ง และรพ. 5 แห่ง โดยการกล่าวอ้างว่าพบการเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ปีงบประมาณ 2562 ไม่ถูกต้อง

ต่อมา วันที่ 28 สิงหาคม 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพ กรุงเทพฯ เขต 13 เรียกประชุมตัวแทนสถานพยาบาลภาครัฐทั้งหมดในเขตกรุงเทพฯ เพื่อหารือเรื่องการจัดสรรและแบ่งจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาให้บริการสาธารณสุขกับทั้ง 63 คลินิกและ 5 รพ. และเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ทาง สปสช. แถลงข่าวเรื่อง ประกาศรับสมัครคลินิก เพื่อเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการทดแทนคลินิกชุมชนอบอุ่น จำนวน 400 แห่ง ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 และสปสช.ได้ชะลอการโอนเงินทุกกองทุนตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 รวมเงินที่ค้างโอน 26,512,424.79 บาท
ทางรพ.เพชรเกษม 2 จึงขอร้องทุกข์ต่อนายกฯใน 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องความชอบธรรมหรือการประพฤติมิชอบหรือคำสั่งมิชอบ และ 2.เรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนี้

Advertisement

1.ประเด็นเรื่องความชอบธรรมหรือการประพฤติมิชอบหรือคำสั่งมิชอบ
1.1 การยกเลิกสัญญาให้บริการสาธารณสุขโดยมิชอบ
การที่ สปสช.ได้กล่าวหารพ.เพชรเกษม 2 ว่าพบความไม่ถูกต้องในการเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) และสปสช.จะนำเหตุผลดังกล่าวมาใช้ในการจะยกเลิกสัญญาให้บริการสาธารณสุขกับรพ.เพชรเกษม 2 โดยยังมิได้มีการแจ้งผลการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ครั้งล่าสุด มีเพียงแต่การยึดเอกสารที่เกี่ยวข้องนำไปตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งยึดไปตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2563 จนบัดนี้ ยังไม่ได้แจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าว และยังไม่ได้นำเอกสารมาคืน

หากสปสช.นำข้อกล่าวอ้างดังกล่าว มาเป็นเหตุให้ยกเลิกสัญญาการให้บริการสาธารณสุขโดยไม่มีการชี้แจงรายละเอียด ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หรือยังไม่มีการสอบสวนหรือมีคำตัดสินใดๆ ตามข้อกล่าวหาของสปสช. ถึงแม้ว่าผลดังกล่าวจะกล่าวหาว่ารพ.ได้กระทำความผิด แต่ก็ไม่ตัดสิทธิ รพ. ที่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งหรือคำตัดสินดังกล่าว หรือใช้สิทธิตามกฎหมายทางศาลปกครอง

ดังนั้นการที่สปสช. จะยกเลิกสัญญา โดยไม่มีการชี้แจงเหตุผล หรือยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง หรือยังไม่มีการสอบสวนหรือมีคำตัดสินใดๆ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการยกเลิกสัญญาฯของสปสช. ยังเข้าข่ายผิด ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 มาตรา 57, มาตรา 58, และมาตรา 60 รวมถึงการมีความเห็นแย้งจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร

Advertisement

ดังนั้น การนำเหตุผลดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างในการยกเลิกสัญญา และหรือไม่ต่อสัญญา ทั้งที่รพ.แห่งนี้เป็นโรงพยาบาลเอกชนซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ป่วย ที่ผู้ป่วยเข้าถึงได้ง่ายโดยมีผู้ป่วยมาใช้บริการผู้ป่วยนอกกว่า 1,000 รายและผู้ป่วยในเฉลี่ย 120-150 ต่อวัน และตัวรพ.เองได้รับการตรวจมาตรฐาน จากสปสช.และหน่วยงานรัฐอื่น ได้คะแนนเกณฑ์ดีถึงดีมากมาโดยตลอดทุกปี รวมถึงผลคะแนนความพึงพอใจที่สำรวจจากผู้ป่วยก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีถึงดีมากเช่นกัน ดังนั้นการยกเลิกสัญญาฯและหรือไม่ต่อสัญญาฯจึงเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย กลั่นแกล้งรังแกให้โรงพยาบาลเพชรเกษม 2 ได้รับเสียหายในการดำเนินการประกอบธุรกิจที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติ ขัดกับหลักกฎหมายการปกครอง

อีกทั้ง การดำเนินการดังกล่าวเป็นสร้างภาระและความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหากต้องเดินทางไปรับบริการของโรงพยาบาลในภาครัฐ และยังส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบกิจการ พนักงานจำนวนมาก และที่สำคัญส่งผลกระทบถึงประชาชนในความดูแลและรับผิดชอบโดยรวมจำนวนมากกว่า 40,852 คน รวมถึงประชาชนคลินิกที่ส่งต่อ รพ.เพชรเกษม 2 กว่า 4,376 คน (หากรวมกับจำนวนสมาชิกคลินิกที่เคยส่งต่อให้ จะมีผู้ป่วยจำนวนมากถึง 200,000 คน)

อนึ่ง หากสปสช.คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ประชาชนก็คงไม่ต้องได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำเช่นว่านั้น อีกทั้งการกระจายประชากรไปสู่รพรัฐ และศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งไม่มีศักยภาพเพียงพอในการให้บริการดูแลประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากรพ.รัฐเองมีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการให้บริการ อีกทั้งยังมีนโยบาลลดความแออัดของรพ.รัฐอย่างต่อเนื่อง และขอให้ภาคเอกชนเข้ามารองรับความแออัดด้วย รวมถึงช่วงนี้ยังมีการระบาดของไวรัสโคโรน่า หากมีการแออัดย่อมส่งผลเสียการบริหารจัดการการระบาดดังกล่าวด้วย

1.2 การชะลอการโอนเงินค่าบริการทางการแพทย์ โดยมิชอบ
การชะลอการโอนเงินค่าบริการทางการแพทย์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เป็นเงินจำนวน 26,512,424.79 บาท ซึ่งสปสช.แจ้งสาเหตุมีการชะลอโอนเงินว่า เนื่องจากรอตรวจสอบเวชระเบียนเท่านั้น โดยไม่ได้บอกถึงรายละเอียดต่างๆ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่จะโอนเงินดังกล่าวคืนให้แก่รพ. เป็นเหตุให้รพ.ด้รับความเสียหาย อย่างร้ายแรง ทำให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจภายในรพ. มีผลกระทบหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านต้นทุนการรักษาผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพ ต้นทุนค่าตอบแทนพนักงาน

อีกทั้ง ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 13 กรุงเทพฯ ได้มีหนังสือเรื่อง การให้บริการผู้ป่วย กรณี สปสช.ยกเลิกการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการคลินิกเอกชน 18 แห่ง ซึ่งคลินิกดังกล่าวสิ้นสุดสิ้นสภาพการเป็นหน่วยบริการ ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ประชาชนไม่สามารถเข้ารับบริการที่คลินิกเดิมได้ จึงมีหนังสือฉบับดังกล่าว ส่งให้รพ.เพื่อลดผลกระทบต่อการรับบริการของประชาชน โดยรพ.เพชรเกษม ๒ ได้ให้ความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยดังกล่าว ตามที่ร้องขอมา แต่ท้ายที่สุดรพ.ก็ยังถูกชะลอเงินดังกล่าว ทั้งที่สำนักงานฯเป็นผู้ขอความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วย

อนึ่ง หาก สปสช.ชี้แจงว่า รอตรวจสอบค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งรพ.ได้ผ่านการตรวจสอบมาแล้วถึง 4 ครั้ง รพ.ไม่อาจทราบสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าเพราะเหตุใดถึงมีการชะลอเงินค่าบริการทางการแพทย์ไว้ อีกทั้ง หากรอผลการตรวจสอบเพิ่มเติมเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ก็ไม่ควรชะลอการโอนเงินค่าบริการทางการแพทย์ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น 1.กองทุนผู้ป่วยนอก งบบริการผู้ป่วยนอกจ่ายแบบเหมาจ่ายต่อผู้มีสิทธิ 2.กองทุนผู้ป่วยใน CAP 3.กองทุน Central Reimburse บริการกรณีเฉพาะ 4.กองทุนเอดส์ งบค่าบริการสุขภาพผู้ติดเชื้อ HIV 5.กองทุนไตวายเรื้อรัง งบค่าบริการทดแทนไต 6.งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา เป็นต้น ก็ควรจะชะลอการโอนเงินเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ PP_Itemuzed (การเบิกค่าบริการงานส่งเสริมคุณภาพและป้องกันโรค)
ดังนั้นการชะลอการโอนเงินดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบธรรม ทำให้รพ.ได้รับความเสียหาย จึงขอความเมตตาจากนายกฯช่วยเหลือในส่วนนี้

2.ประเด็นเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรม
เรื่องการกล่าวหาการกระทำความผิด การยกเลิกสัญญา หรือการชะลอการโอนเงินค่าบริการทางการแพทย์นั้น เท่าที่ทราบข่าวมา มีการดำเนินการเลือกเฉพาะกลุ่ม ไม่ดำเนินการด้วยมาตรฐานเดียวกันกับรพ.อื่นๆ ซึ่งมิอาจทราบถึงเจตนารมณ์ที่ทางสปสช.ดำเนินการอยู่ การกระทำดังกล่าวนั้น ยกตัวอย่างเช่น รพ.ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยบัตรทองและ/หรือขนาดใหญ่ ได้แก่ 1.รพ.มงกุฎวัฒนะ 2.รพ.แพทย์ปัญญา 3.รพ.นวมินทร์ 4.รพ.เกษมราษฎร์ เป็นต้น ซึ่งน่าจะเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน เนื่องจากรพ.ดังกล่าว ได้ให้บริการผู้ป่วยจำนวนมากเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีการตรวจสอบอย่างเช่นที่รพ.เพชรเกษม 2 ได้รับ ได้รับความยกเว้นเพราะเหตุใด เพราะใคร ทำให้รพ.เพชรเกษม 2 รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม รู้สึกเหมือนโดนรังแก เป็นการกระทำหรืองดเว้น ที่มีลักษณะการกีดกัน แบ่งแยก อันมีผลทำให้รพ.เพชรเกษม 2 นั้นไม่ได้รับโอกาสแห่งความเท่าเทียมกันอย่างที่รพ.อื่นๆ นั้นพึงจะได้รับ

“จึงเรียนมาเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ท่านนายกฯตรวจสอบการทำงานทั้งระบบของสปสช.ทั้งประเทศเพื่อความชอบธรรมและเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย ไม่เลือกปฏิบัติ และให้ระงับการยกเลิกและหรือไม่ต่อสัญญา และให้สปสช.ชำระเงินค่าบริการสาธารณสุขที่ชะลอไว้ให้รพ.เพชรเกษม 2 ทันที เนื่องจากทำให้เดือดร้อนอย่างยิ่ง ขาดสภาพคล่องในสภาวะทางเศรษฐกิจซึ่งตกต่ำอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ประชาชนผู้รับบริการบัตรทองในเขตภาษีเจริญและใกล้เคียงได้รับบริการจากโรงพยาบาลเอกชน อยากให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ง่ายมากและเร็ว”หนังสือระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image