คนกรุงขอเปิดสนามซ้อมชนไก่ กทม.ยังเข้มโควิด-19 สั่งเขตสำรวจ-ทำรายละเอียด

คนกรุงขอเปิดสนามซ้อมชนไก่ กทม.ยังเข้มโควิด-19 สั่งเขตสำรวจ-ทำรายละเอียด

วันนี้ (11 กันยายน 2563) ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม.

พล.ต.ท.โสภณ แถลงว่า ในที่ประชุมหน่วยงานต่างๆ ได้รายงานถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 รวมถึงมีประชาชนขออนุญาตเปิดสนามซ้อมชนไก่ในพื้นที่เขตหนองแขม จำนวน 1 ราย ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานเขตสำรวจสนามซ้อมชนไก่ในพื้นที่เขตของและจำนวนผู้ที่จะขออนุญาตเปิดสนามซ้อมไก่ชนเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำรายละเอียดที่ชัดเจนแล้วนำเข้าที่ประชุมเพื่อหารือแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป

“นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กำชับให้มีการตรวจตราสถานประกอบการต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ อีกทั้งให้มีการจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม และจัดทำคู่มือเกี่ยวกับการป้องกันแจกจ่ายประชาชนด้วย” ผอ.ศบค.กทม. กล่าว

พล.ต.ท.โสภณ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการเฝ้าระวังโรคติดต่อตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 31 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดเกิดขึ้น ให้บุคคลต่อไปนี้แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ (1) เจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้าน หรือแพทย์ผู้ทำการรักษาพยาบาลในกรณีที่พบผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้นในบ้าน (2) ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล ในกรณีที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานพยาบาล (3) ผู้ทำการชันสูตร หรือผู้รับผิดชอบในสถานที่ที่ได้มีการชันสูตร

Advertisement

“ในกรณีที่ได้มีการชันสูตรทางการแพทย์หรือทางการสัตวแพทย์ตรวจพบว่า อาจมีเชื้ออันเป็นเหตุของโรคติดต่อดังกล่าว (4) เจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด ในกรณีที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้นในสถานที่นั้น โดยหลักเกณฑ์ และวิธีการแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อฯ กำหนด อาทิ ชื่อ ที่อยู่ สถานที่ทำงาน หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น มาตรา 32 เมื่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้รับแจ้งตามมาตรา 31 ว่ามีเหตุสงสัย มีข้อมูลหรือหลักฐานว่ามีโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อแจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี และรายงานข้อมูลนั้นให้กรมควบคุมโรคทราบโดยเร็ว” พล.ต.ท.โสภณ กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34 กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอำนาจที่จะดำเนินการเอง หรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดำเนินการ ดังต่อไปนี้ (1) ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะ มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ และเพื่อความปลอดภัยอาจดำเนินการโดยการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนดจนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่า พ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย เป็นต้น

“มาตรา 38 เมื่อมีเหตุอันสมควร ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศมีอำนาจตรวจตรา ควบคุม กำกับดูแลในพื้นที่นอกช่องทางเข้าออก และแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการกำจัดพาหะนำโรคในบริเวณรัศมีสี่ร้อยเมตรรอบช่องทางเข้าออก ในการนี้ ให้เจ้าของหรือผู้อยู่ในบ้าน โรงเรือน หรือสถานที่ในบริเวณดังกล่าว อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามสมควรทั้งนี้ หากเป็นสัตว์ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์เป็นผู้นำสัตว์มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตรทางการแพทย์” ผอ.ศบค.กทม. กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image