จ่อปิดเคสดีเจโควิด-19 สธ.เฝ้าระวังผู้สัมผัสในเรือนจำอีก 5 วัน ยันไทยยังปลอดภัย

จ่อปิดเคสดีเจโควิด-19 สธ.เฝ้าระวังผู้สัมผัสในเรือนจำอีก 5 วัน ยันไทยยังปลอดภัย

เมื่อวันที่ 13 กันยายน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 กรณีผู้ต้องขังชาย อาชีพดีเจที่ตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19  ขณะที่อยู่ระหว่างการกักกันก่อนเข้าแดนปกติในเรือนจำ ว่า ย้อนกรณีของผู้ติดเชื้อรายดังกล่าว พบว่าจะมี 2 ช่วงเวลารอยต่อ คือ ช่วงที่ 1 ก่อนวันที่ 26 สิงหาคม ก่อนผู้ป่วยเดินทางไปรับฟังคำตัดสินที่ศาลรัชดา เป็นกลุ่มนอกเรือนจำ ซึ่งขณะนี้พ้นระยะเวลา 14 วันของการเฝ้าระวังโรคแล้ว และ ช่วงที่ 2 หลังวันที่ 27 สิงหาคม เป็นต้นไป ที่ผู้ป่วยเดินทางไปเข้าสถานกักกันตัวของเรือนจำ เป็นกลุ่มในเรือนจำ ได้ตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำและผู้ที่มีความกังวลครบถ้วน แต่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่กลุ่มนี้มีผู้ที่ไม่ครบระยะเวลาเฝ้าระวังโรค 14 วัน แต่จะครบกำหนดในเร็วๆ นี้

“ส่วนในประเด็นคำถามว่า ผู้ป่วยติดเชื้อมาจากที่ใด ซึ่งทุกประเทศคล้ายกันในการตรวจสอบว่าติดจากที่ไหน ติดเมื่อไร เป็นเรื่องยากในการสอบสวนโรค แต่เนื่องด้วยสายพันธุ์ของเชื้อในผู้ป่วยรายนี้เป็นสายพันธุ์ G เป็นตัวเดียวกันกับที่กำลังระบาดในทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับการระบาดขณะนี้ เพราะในช่วงแรกเป็นการระบาดสายพันธุ์ S และ L แต่ประเทศไทยไม่พบสายพันธุ์นี้มาค่อนข้างนานแล้ว” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ความสามารถในการแพร่เชื้อในส่วนของผู้ป่วยเอง ไม่ได้มีการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น เนื่องจากตรวจหาเชื้อในผู้สัมผัสแล้ว แต่ไม่พบรายงานการติดเชื้อทุกราย และการสอบสวนโรคว่าติดเชื้อมาจากที่ใด ได้ย้อนกลับไปตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม แต่ก็ไม่มีพบรายงานเช่นกัน ซึ่งเป็นนัยยะว่า ประเทศไทยค่อนข้างปลอดภัย ดังนั้น กรณีของผู้ป่วยรายนี้ก็ใกล้ถึงเวลาจบเคสแล้ว เหลือเพียงรอครบกำหนดการเฝ้าระวัง 14 วัน ของผู้ที่อยู่ในเรือนจำเท่านั้น

นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเพื่อนบ้าน และการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีความเสี่ยงต่ำในการติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

Advertisement

“โดยเฉพาะเมียนมาที่มีรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 วันที่ 13 กันยายน พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 173 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 2,595 ราย ส่วนเวียดนาม มีผู้ป่วยสะสม 1,060 ราย กัมพูชา 274 ราย และ ลาว มีผู้ป่วยสะสม 23 ราย” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า ในส่วนของประเทศไทย ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว อาจพบปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันการนำเชื้อโรคโควิด-19 เข้ามาประเทศไทย จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยร่วมมือกันดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งในบริเวณตะเข็บชายแดนดังกล่าว และในจังหวัดที่แรงงานต่างด้าวมักเดินทางไปทำงาน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สธ.มีการประเมินความเสี่ยงที่อาจแพร่ระบาดมายังประเทศไทย เพื่อวางแผนในการเตรียมความพร้อมรับมือในอนาคต พร้อมทั้งเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังที่ด่านชายแดนปกติ และได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง และปกครอง โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) ร่วมตรวจสอบพื้นที่และตรวจลาดตะเวนในช่องทางธรรมชาติ รวมทั้งการค้นหาแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ มีมาตรการยับยั้งและป้องกันที่สำคัญคือ การให้ความรู้ อสต. เรื่องการตรวจคัดกรอง การป้องกันตนเอง รวมทั้งการเฝ้าระวัง ร่วมกับการค้นหาผู้ติดเชื้อและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เชิงรุกแก่ประชาชนในพื้นที่ และจัดสถานที่กักกันท้องถิ่น (Local quarantine) ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติ หรือคนแปลกหน้าในชุมชน ต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การลักลอบเข้าเมืองนั้น หากเจ้าหน้าที่ดำเนินการควบคุมตัวได้แล้ว ก็จะต้องทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 พร้อมทั้งนำตัวเข้าสู่สถานกักกันโรคท้องถิ่น เฝ้าระวังโรคจนครบ 14 วัน หลังจากนั้น หากตรวจไม่พบเชื้อจะส่งตัวเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนยังต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างเข้มงวดต่อไป

“แต่สิ่งที่ตกไปในตอนนี้คือ การล้างมือทั้งด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ จะเห็นได้ว่าประชาชนให้ความสำคัญน้อยลงอย่างมาก ซึ่งในความจริงควรจะต้องล้างมือให้บ่อยเหมือนเดิม พร้อมทั้งจะต้องเพิ่มการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสให้บ่อยขึ้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าวและว่า ขอให้ปฏิบัติตามแนวทางของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) อย่างเคร่งครัด และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยที่มีความเข้มแข็งและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image