สธ.ห่วงโควิด-19 ระลอก 2 สั่ง จว.ชายแดน-ย่านอุตสาหกรรม สแกนต่างด้าวผิดกม.

แฟ้มภาพ
สธ.ห่วงโควิด-19 ระลอก 2 สั่ง จว.ชายแดน-ย่านอุตสาหกรรม สแกนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

วันนี้ (16 กันยายน 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย วันนี้มีผู้ติดเชื้อ 10 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (อินเดีย 2 ราย, อินโดนีเซีย 2 ราย, พม่า 1 ราย, เอธิโอเปีย 1 ราย, เยเมน 4 ราย) เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้หรือสถานกักตัวทางเลือก มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 1 ราย ทำให้มีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,316 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.01 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 116 ราย หรือร้อยละ 3.32  ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,490 ราย

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ ซึ่งมาตรการของประเทศไทยยังคงให้ผู้เดินทางทุกคนต้องเข้ารับการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 14 วัน และหากพบว่าป่วย จะอยู่ในการดูแลของแพทย์ ไม่น้อยว่า 14 วันเช่นกัน เพื่อความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจว่าเชื้อจะไม่สามารถแพร่สู่ผู้อื่นได้

“จากการศึกษาการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR พบว่า สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมจากทางเดินหายใจส่วนบน ได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนมีอาการ และสามารถตรวจพบเชื้อในลำคอได้โดยเฉลี่ยประมาณ 17 วัน หลังเริ่มมีอาการ อย่างไรก็ดี การตรวจเจอสารพันธุกรรมด้วยวิธี PCR ไม่สามารถบอกได้ว่าเชื้อยังคงมีชีวิตอยู่ (สามารถแพร่จากผู้ป่วยไปยังผู้อื่นได้) หรือเป็นเชื้อที่ตายแล้ว ส่วนการตรวจหาเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ในกลุ่มคนที่มีอาการน้อยๆ พบว่า มักจะสามารถตรวจพบเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนเริ่มมีอาการเช่นกัน แต่จะสามารถตรวจพบเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินวันที่ 9 หลังวันที่เริ่มมีอาการ นั่นคือ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการน่าจะสามารถแพร่เชื้อได้ประมาณ 10 วันหลังจากที่เริ่มแสดงอาการ และการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 หลังจากวันที่ 10 ไปแล้ว น่าจะเป็นสารพันธุกรรมของเชื้อที่ตายแล้วมากกว่าสารพันธุกรรมของเชื้อที่ยังมีชีวิต” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ของประเทศเมียนมาที่พบการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2 อย่างรวดเร็ว นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า อาจส่งผลกระทบได้เช่นกัน ซึ่งภาครัฐได้วางมาตรการป้องกันในพื้นที่ชายแดนอย่างเต็มที่ มอบให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการเข้มงวดในผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ส่วนด้านสาธารณสุขได้สั่งการให้จังหวัดที่มีพื้นที่ชายแดน รวมถึงจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจจับ เฝ้าระวังโรคในกลุ่มแรงงานผิดกฎหมาย โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) มีส่วนร่วมสอดส่อง และยังขอความร่วมมือจากภาคเอกชน โรงงาน สถานประกอบการ หอพัก งดรับแรงงานผิดกฎหมายในช่วงนี้  เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่อาจนำเชื้อโควิด-19 มาแพร่สู่ผู้อื่นได้ หากพบความผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็ว

Advertisement

“สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ อาจพบการติดเชื้อและระบาดในประเทศได้อีก การเตรียมความพร้อมอยู่เสมอจึงมีความสำคัญ เราควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตนเอง ครอบครัว ชุมชน อย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นการช่วยทำให้ใช้ชีวิตและเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ อย่างมั่นคง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image