จิตแพทย์ชี้เหตุฆ่าคนรักก่อนปลิดชีพตาม ปมเศรษฐกิจมีส่วนกระตุ้น

จิตแพทย์ชี้เหตุฆ่าคนรักก่อนปลิดชีพตัวเองตาม ปมเศรษฐกิจมีส่วนกระตุ้น วอนคนรอบข้างรับฟัง

หลังจากเกิดเหตุสะเทือนใจฆ่ายกครัว 5 ศพ ในพื้นที่เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะเกิดจากคนในครอบครัวมีปัญหาด้านเศรษฐกิจนั้น

วันนี้ 17 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ปราการ ถมยางกูร กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีการฆ่าผู้อื่นหรือบุคคลที่ตนเองรักและฆ่าตัวตายตาม ว่า ในผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จนั้น มักเกิดจากสาเหตุหลัก ได้แก่ 1.รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่มีความหวัง 2.การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง คือ สารโดปามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) 3.โรคประจำตัว เช่น ติดแอลกอฮอล์ ภาวะซึมเศร้า และ 4.การใช้สารเสพติด

นพ.ปราการ กล่าวว่า ส่วนในกรณีของการฆ่าผู้อื่น คนรอบข้างหรือคนที่รัก และฆ่าตัวเองตามนั้น เกิดจากสาเหตุหลายปัจจัย อาทิ 1.เมื่อฆ่าผู้อื่นแล้วรู้สึกผิดจึงฆ่าตัวเองตาม 2.การทะเลาะเบาะแว้งกันรุนแรง 3.การฆ่าเพราะความหลงผิดซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น คิดว่าผู้นั้นเป็นสมบัติของตนเอง จากการศึกษาพบในกรณีที่มารดาฆ่าบุตร เพราะเข้าใจว่าบุตรคือสมบัติของตนเอง การฆ่าเพราะความกตัญญู เช่น การที่ฆ่าผู้ใหญ่ในครอบครัว เพราะไม่อยากให้ทนทรมานกับการเจ็บป่วย 4.การฆ่าเพราะหึงหวง หรือ ความรักที่โดนกีดกัน เช่น การที่อยากให้ขึ้นสวรรค์ไปอยู่ด้วยกัน 5.บางรายอาจมีประวัติของการถูกทำร้ายในวัยเด็ก ซึ่งก่อให้เกิดความโกรธที่สะสม 6.เกิดจากปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว และ 7.ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไปกระตุ้นสาเหตุต่างๆ

Advertisement

“การฆ่าคนอื่นและฆ่าตัวเองตาย มักเกิดจากความคิดสะสมมาระยะหนึ่งที่ค่อยๆ บ่มเพาะ หรืออาจเกิดจากความโกรธ ทั้งนี้มักจะมีการวางแผนไว้ก่อน หรืออาจมีความคิดที่จะทำมาก่อน ในประเทศสหรัฐอเมริกามีการวิจัย พบว่าในทุกปีจะเกิดเหตุการณ์ฆ่าผู้อื่นและฆ่าตัวเองตาม ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้สารเสพติด” นพ.ปราการ กล่าว

นพ.ปราการ กล่าวว่า สัญญาณเตือนของผู้มีความเสี่ยง คือ จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป สิ่งใดที่เคยทำ ก็อาจจะไม่ทำ ความสนุกสนานร่าเริงในชีวิตหายไป รวมถึงการซื้ออาวุธหรือน้ำยาเคมีมาเก็บไว้ บางรายอาจจะมีการพูดสั่งเสียกับคนรอบข้าง แต่ในบางรายอาจจะมีการพูดออกมาตรงๆ ว่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้คนรอบข้างควรจะใส่ใจและให้ความสำคัญ เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า ผู้ที่กำลังมีความคิดจะฆ่าตัวตายนั้น แม้ว่าจะมีความอยากฆ่าตัวตายเพียงใด แต่ก็จะมีช่วงที่มีความรู้สึกว่า ยังอยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่งในการที่คนรอบข้างจะเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อดึงสติและเปลี่ยนความคิดให้ดีขึ้นได้ ด้วยการรับฟังด้วยหัวใจ และมีสติ ให้เวลาในเขาได้ระบายความทุกข์เหล่านั้น

“คนอยากฆ่าตัวตาย เปรียบเหมือนกำลังเดินไปในอุโมงค์มืดๆ เดินไปเรื่อยๆ ไปจนสุดทางและตกอุโมงค์ตาย แต่หากมีผู้รับฟัง ก็จะช่วยสะกิดใจได้ ทำให้เขาเปลี่ยนใจได้ ทั้งนี้ผู้ที่มีปัญหาและอยากระบายก็สามารถโทรไปยังสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ได้ เพื่อให้ได้เล่า ระบายความทุกข์ออกมา และเป็นสิ่งที่ได้ผลจริง” นพ.ปราการ กล่าว

Advertisement

นพ.ปราการ กล่าวอีกว่า เมื่อวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ทำให้คนเกิดภาวะความเครียดจากเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้เกิดอัตราการฆ่าตัวตายที่มากขึ้นในสถิติปี 2541-2542 เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาบ่มเพาะและสะสมความรู้สึก แต่ในผู้ที่สามารถอดทนและผ่านพ้นมาได้ช่วงเวลาที่ทุกข์มาได้ ก็จะสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสกัดและป้องกันการฆ่าตัวตาย ขณะนี้กรมสุขภาพจิตเร่งดำเนินการป้องกันและรับมือในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2564 อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่ผ่านมาจากครั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง กรมสุขภาพจิตจึงได้วางแผนการรับมือและเตรียมการรับมืออย่างเต็มที่

“สิ่งที่ช่วยได้และอยากรณรงค์คือ รอยยิ้มสยาม เป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้กับเราได้ เมื่อเรามีความสุขเราก็ยิ้มสะสมไว้ พอถึงช่วงเวลาที่เรามีความทุกข์ เราก็จะนึกถึงความสุขเหล่านั้นได้ ตอนนี้ที่ยิ้มสยามหายไป เพราะชีวิตที่เร่งรีบ และการคิดถึงแต่ตัวเองมากจนลืมว่ายังมีคนอื่นให้เราคิดถึงและแบ่งปัน ซึ่งแบ่งปันได้ง่ายๆ คือการให้รอยยิ้ม ไม่ว่าจะเจอเหตุการณ์อะไรให้เรายิ้มเข้าไว้ การวิจัยระบุว่าการยิ้มนั้น ทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขออกมา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้นั้นมีความสุขได้” นพ.ปราการ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image