สปสช.เรียนรู้ ‘ร่าง รธน.’ ก่อนลงประชามติ กรธ.ย้ำต้องอ่านทั้งฉบับ ไม่มีล้มบัตรทอง

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดกิจกรรมศึกษาเรียนรู้ “ร่างรัฐธรรมนูญ” โดยได้เชิญกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ร่วมบรรยายและชี้แจงการจัดทำเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพและการบริการสาธารณสุข ซึ่งจะมีการเปิดให้ประชาชนร่วมลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ โดยมี นพ.วิทยา ตันสุวรรณนนท์ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยผู้บริหารและตัวแทนเจ้าหน้าที่ สปสช. เข้าร่วม พร้อมกับมีการถ่ายทอดวิดีโอผ่านทางไกลไปยังสำนักงาน สปสช.ทั้ง 13 เขต

นายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หนึ่งในกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การพิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญด้านใดด้านหนึ่งนั้นจำเป็นต้องพิจารณาเนื้อหาทั้งฉบับ ไม่ว่าจะอยู่ในหมวดสิทธิและเสรีภาพประชาชน หมวดหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากแต่ละมาตราจะมีการเชื่อมโยงไปยังมาตราอื่นๆ เช่นเดียวกับเนื้อหาด้านระบบบริการสาธารณสุขและสุขภาพ โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงสิทธิการเข้าถึงบริการของประชาชนเช่นเดิม ไม่ได้มีเนื้อหาที่ตัดทอนหรือล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามที่มีความพยายามนำเสนอ

นายภัทระกล่าวอีกว่า ในมาตรา 47 ข้อความที่ระบุ คนยากไร้อนาถาที่กำลังถูกวิจารณ์นั้น หากพิจารณาในวรรคแรกที่ระบุว่า บุคคลย่อมได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐแล้ว ถือว่าเป็นสิทธิที่ให้การครอบคลุมการดูแลประชาชนทั้งหมดแล้ว เพียงแต่หากคนไม่เข้าใจหลักสิทธิและหน้าที่ของรัฐและไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็จะไม่เข้าใจ และคิดไปว่าเป็นการจำกัดสิทธิบริการเฉพาะผู้ยากไร้เท่านั้น ทั้งในมาตรา 55 ที่กำหนดให้รัฐต้องให้บริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง โดยในวรรคที่ 2 ของมาตรานี้ ยังได้มีการขยายความการให้บริการสาธารณสุขตามวรรค 1 ที่ต้องครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีมาตรา 213 และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติ ความเสมอภาคในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพจะเกิดขึ้นครั้งแรก

นายภัทระกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มาตรา 258 ในมาตรา 94(4) ซึ่งระบุให้มีการปรับระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยังคงอยู่ ไม่ได้หายไป ทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ รธน.ได้มีการเขียนถึงระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นการรับรองระบบสุขภาพทั้ง 3 ระบบไว้ใน รธน. ดังนั้น ใครจะล้ม 30 บาทคงทำไม่ได้ เพราะมีการเขียนชัดเจนไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว

Advertisement

นายศุภชัย ยาวะประภาษ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญหมวดที่สำคัญมากคือหมวดทั่วไปที่รองรับทุกอย่าง โดยในมาตรา 4 นั้นมีวรรคแรกเป็นบรรทัดฐานหลัก ส่วนวรรคที่ 2 นั้นกำหนดชัดว่าปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองเสมอกัน ซึ่งได้ครอบคลุมทั้งหมดแล้ว แต่ในร่างรัฐธรรมนูญเอง จำเป็นต้องมีแต้มต่อเพื่อช่วยให้บุคคลบางกลุ่มสามารถเข้าถึงสิทธิได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่อ่านและเข้าใจได้ยาก

นายศุภชัยกล่าวอีกว่า ขณะที่ในส่วนของมาตรา 55 ที่ไม่ค่อยพูดถึงกันคือในวรรคที่ 3 ระบุว่ารัฐต้องพัฒนาบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเขียนเนื้อหาในเชิงหลักการที่เป็นการท้าทายเท่านั้น แต่จะพัฒนาอย่างไรนั้น ร่างรัฐธรรมนูญคงไปเขียนรายละเอียดไม่ได้ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบสาธารณสุขต้องร่วมกันคิดและตอบเพื่อทำให้ระบบบริการมีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ สิ่งต่อจากนี้ที่พวกเราต้องคอยดูถ้าร่างรัฐธรรมนูญมีโอกาสประกาศใช้คือ ต้องดูแลให้การดำเนินการเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ ซึ่งรวมถึงสิทธิการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image