อนุทิน ไม่หวั่น ศรีสุวรรณ ร้องสอบ สปสช.ชี้เป็นเรื่องดี ช่วยกันหาข้อมูล

อนุทิน ไม่หวั่น ศรีสุวรรณ ร้องสอบ สปสช.ชี้เป็นเรื่องดี ช่วยกันหาข้อมูล

กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรี สั่งการให้รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้บริหาร สปสช. ว่าเข้าข่ายการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการบริหารงานหรือไม่

วันนี้ (5 ตุลาคม 2563) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมบอร์ด สปสช.ว่า ช่วยกันตรวจสอบก็ดีแล้ว ท่านศรีสุวรรณเองก็คอยรักษาประโยชน์ให้กับประชาชนในทุกเรื่องอยู่แล้ว

“การที่ท่านมาดูแลเรื่องนี้ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ทำให้เกิดข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน เรื่องนี้เรื่องใหญ่ ไม่ใช่สอบสวน 1-2 วันแล้วเสร็จ มันเกี่ยวกับคนจำนวนมาก ต้องยืนยันตัวตน ยืนยันเอกสาร ยืนยันผู้ปฏิบัติ ว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น มันหลุดตรงไหนต้องดูให้หมด เป็นคดีอาญาแผ่นดิน ไม่ใช่ทำตามอารมณ์โกรธของเรา ไม่ได้ ต้องดูหลักฐานทั้งหมด” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

นายอนุทิน กล่าวว่า การตรวจสอบก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเท็จที่มี นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายประเมินผล ประธานคณะอนุกรรมการ ซึ่งคงไม่สอบเฉพาะภายนอก ก็ต้องสอบภายในและทั้งหมด ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

“คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกรรมการของ สปสช.เป็นส่วนใหญ่ จะบอกว่าเราไม่เอาจริงเอาจังได้ยังไง ต่อให้รมว.สธ. ไม่อยู่ ก็ปลดไม่ได้ เพราะท่านเป็นกรรมการของสปสช. นี่คือเหตุผลที่ผมไม่ตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมา อย่างนี้ไม่เห็นชมผมบ้าง ผมตั้งกรรมการของสปสช. มาตรวจสอบ ที่เป็นชุดใหม่หมด ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหวงเวลาที่เกิดเหตุ ผมก็ทำเต็มที่ ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อสังเกตของนายศรีสุวรรณว่า หลังจากที่มีการเปิดรับหน่วยบริการใหม่ทดแทน และมีอดีตผู้บริหาร สปสช.บางคนออกมาตั้งคลินิกทั่วทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายสาขา จนเป็นที่ผิดสังเกต นายอนุทิน กล่าวสั้นๆ ว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำ หากเป็นจริงก็ตามนั้น หากใครจะเข้ามายื่นข้อเรียกร้อง ก็ส่งมาได้

นายอนุทิน กล่าวถึงผลกระทบจากการยกเลิกสถานพยาบาลที่ทุจริตกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จำนวน 190 แห่ง ว่า ขณะนี้ สปสช.มีความพยายามในการหาสถานพยาบาลทดแทนให้ได้มากที่สุด โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สธ.ได้จัดหาสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้บริการประชาชนให้ได้มากที่สุด

“เราไม่สามารถปล่อยให้การทุจริตดำเนินต่อไปได้ มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลใหม่ทดแทน ทาง สปสช.ก็ยินดี บอร์ด สปสช. ก็บอกให้ สปสช.ตั้งระเบียบ ข้อปฏิบัติโดยการเอาบทเรียน ช่องโหว่ทุจริตมาใช้เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก นโยบายเราก็พูดได้เพียงเท่านี้” นายอนุทิน กล่าวและว่า ต้องขออภัยประชาชนอย่างยิ่งในความไม่สะดวกดังกล่าว แต่ขณะนี้ทาง สปสช.ก็ได้เร่งหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และจะให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในกรณีดังกล่าว สปสช.มีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้ มีคนภายนอกเป็นคณะกรรมการ ยินดีให้ตรวจสอบ ถ้าเจอก็ว่ากัน ในชุดตรวจสอบมีนายจิรวุสฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการ แล้วยังมีคนนอกร่วมอีกด้วย

ทพ.อรรถพร กล่าวอีกว่า ในส่วนข้อร้องเรียนว่า การยกเลิกสัญญาแล้วเกิดผลกระทบต่อประชาชน เรื่องนี้ สปสช.ยอมรับ เพราะตอนแรกที่บอร์ดฯ หารือกันใน 2 ทางออก คือ 1.การจัดการหน่วยบริการ แบบค่อยๆ จัดการเพื่อหาแห่งใหม่มาทดแทน และ 2.ตัดไฟแต่ต้นลม คือยกเลิกทั้งหมด ทางบอร์ดฯ ได้เห็นชอบเลือกใช้ทางออกที่ 2 เพราะขณะนั้นเรารับรู้การทุจริตที่เกิดขึ้นแล้ว เราไม่ยอมให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เพื่อป้องกันการสวมสิทธิของประชาชนในการนำข้อมูลเท็จมาเบิกจ่ายกับกองทุน ขณะนี้ สปสช.ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ใช้แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดยจะสร้างรายการขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า Health Wallet เพื่อให้ประชาชนพิสูจน์ตัวตนด้วยบัตรประชาชนก่อนเข้าไปรับบริการในสถานพยาบาล โดยสามารถเข้าไปลงทะเบียนในแอพพ์ฯ เลือกบริการที่ต้องการและสถานพยาบาลที่จะเข้ารับบริการ หลังจากนั้นจะได้คิวอาร์โค้ดมา ประชาชนก็นำโค้ดนั้นไปเพื่อแสดงกับเจ้าหน้าที่เพื่อรับบริการสุขภาพได้ ซึ่งข้อมูลการเข้ารับบริการจะตรงกับข้อมูลที่ลงทะเบียนไว้ในระบบ ก็จะเสร็จสิ้นการพิสูจน์ตัวตน

“หากไม่สะดวกใช้แอพพ์ฯ ก็สามารถไปพิสูจน์ตัวตนได้ที่หน่วยบริการ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ หรืออาจมีการพิสูจน์ตัวตน ณ หน่วยบริการนั้น ๆ ได้เลย การใช้แอพพ์จะสามารถป้องกันการใช้เลขบัตรประชาชนกรอกเข้าระบบ โดยที่เจ้าของเลขไม่ได้เข้ารับบริการจริงได้ รวมถึงจะมีการเปิดตัวแอพพ์นี้ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้” ทพ.อรรถพร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าของการหาสถานบริการทดแทน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การเปิดรับคลินิกที่จะเข้ามาเป็นสถานพยาบาลทดแทนแห่งใหม่ ที่ตั้งเป้าไว้ว่า 500 แห่ง ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ คิดว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจาก กทม.ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการให้ศูนย์บริการสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 13 ที่มีจำนวน 69 แห่ง ต่างออกไปติดต่อหาคลินิกใกล้ๆ พื้นที่จำนวน 10 แห่ง หากแล้วเสร็จก็จะได้คลินิกแห่งประมาณ 690 แห่ง และจะเพิ่มให้มีบริการในเวลาราษฎร์ เช่น เวลา 16.00-20.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่าในคลินิก 190 แห่งที่ทุจริต ความเสียหายรวมเท่าไร ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ตัวเลขอาจไม่ชัดเจน แต่สามารถบอกได้แน่นอนว่า ผิด 190 แห่ง เสียหาย 190 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของการเรียกเงินคืนนั้นจะแบ่งเป็น 1.มีการหักค่าใช้จ่ายของคลินิกทั้งหมดทันที เพื่อไม่ให้มีการเบิกจ่ายเงิน และ 2.เมื่อยุติเรื่องทั้งหมดลงแล้ว เรียกเงินคืนมาได้ ก็จะต้องเรียกค่าเสียหายทางคดีแพ่งกับคลินิกเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากความเสียหาย 190 ล้านบาท ในค่าใช้จ่ายของกระบวนการตรวจสอบคดีนี้ เช่น ค่าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ค่าโรงแรมที่ใช้เก็บหลักฐานและตรวจสอบ ค่าอาหารของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image