ดีเดย! 26 พ.ย.เปิดเวทีขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ

ดีเดย! 26 พ.ย.เปิดเวทีขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ 

วันนี้ (19 ตุลาคม 2563) ที่ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมี นพ.ขจิต ชูปัญญา ประธานมูลนิธิช่วยการสาธารณสุขชุมชน ในฐานะที่ปรึกษา คจ.สก. นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการ คจ.สก. รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานนท์ รองประธานกรรมการ คจ.สก. นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัด กทม. ในฐานะรองประธานกรรมการร่วม พร้อมด้วยคณะกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดและการสนับสนุนการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่และสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น พ.ศ.2563 ตามข้อ 8 ระบุให้มีคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก) และคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพจังหวัด (คจ.สจ.) ที่ คสช. แต่งตั้ง เพื่อให้มีจำนวนตามความเหมาะสมจากภาคส่วนต่าง ๆ ภายในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัด โดยมีกรรมการที่มาจากภาคส่วนประชาชนและเอกชนรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ประชุมแกนนำภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และได้แต่งตั้ง คจ.สก. ประกอบด้วย ผู้บริหารกทม. ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ นักวิชาการ องค์กรประชาชน และผู้นำชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ มี รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธานคณะทำงาน โดยประชุม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 และเห็นชอบร่างรายชื่อ คจ.สก.จำนวน 31 คน จากภาคส่วนราชการ วิชาการ และประชาชน โดยมีกรรมการจากภาคประชาชน จำนวน 17 คน มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธานกรรมการ และผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานกรรมการร่วม

Advertisement

สำหรับอำนาจและหน้าที่ คจ.สก. 1.สนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ อย่างมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และรายงานผลการจัด รวมทั้งมติที่ได้ให้ คสช.ทราบ 2.เห็นชอบกรอบแนวทางการจัดงาน ระเบียบวาระการประชุม และกำหนดผู้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ จากภาคีภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ แล้วแต่กรณี 3.กำหนดแผนงาน กลไกการติดตามงาน และสนับสนุนการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง 4.ประสานสร้างความเข้าใจ เชิญชวน และสนับสนุนให้หน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายต่างๆ ในกรุงเทพฯ หรือในจังหวัด แล้วแต่กรณี ให้เข้าร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมใช้ประโยชน์ ร่วมสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ 5.ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุม และมอบหมายหรือเห็นชอบผู้แทนของสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ เพื่อเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในแต่ละปี ตามคำร้องขอของสำนักงาน และ 6.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่น เพื่อดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็นต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงภาพรวมการจัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ โดยในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือถึงการจัดกิจกรรม เห็นว่าเป็นกระบวนการที่ดีที่จะทำให้ทุกภาคส่วนได้มีเวทีกลางในการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่ใช้ข้อมูล และความรู้เชิงประจักษ์เพื่อนำมาสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวได้ออกแบบแนวทางการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ไว้ ดังนี้

Advertisement

1.วัตถุประสงค์ โดยใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพเป็นพื้นที่กลางในการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่ใช้ข้อมูล และความรู้เชิงประจักษ์เพื่อนำมาสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน

2.กระบวนการดำเนินงาน โดยพัฒนากลไกสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและออกแบบกระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2563 การจัดเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น นำเสนอมติต่อที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานที่อยู่ในสังกัด กทม. ภาคเครือข่ายนำมติไปขับเคลื่อน โดยใช้เวทีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเป็นเวทีในการติดตามความก้าวหน้า

3.รูปแบบการจัดงาน จัดประชุมแบบในสถานที่ (onsite) จำนวน 200 คน และแบบ online ผ่าน Facebook Live และกำหนดจัดงาน 1 วัน ในวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 สถานที่จัดประชุมศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง โดยมีภาคีร่วมจัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 ได้แก่ กทม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และ Thai PBS

สำหรับตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวที่เข้าประชุม อาทิ เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ประธานกลุ่มปฏิบัติงานของสำนักงานเขตกลุ่มกรุงเทพกลาง ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายกสโมสรโรตารีกรุงเทพ นายกสโมสรไลอ้อนส์กรุงเทพ ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตธนบุรี ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. ระธานสหพันธ์ชมรมผู้สูงอายุ กทม. ประธานสภาเด็กและเยาวชน กทม. ประธานเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรังทุกประเภท ประธานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประธานมูลนิธิช่วยการสาธารณสุขชุมชน สำนักอนามัย กทม. สำนักพัฒนาสังคม กทม.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image