สธ.เตือนเข้าหน้าหนาว เฝ้าระวัง! ไข้หวัด-โควิด-19 แนะสวมหน้ากากอนามัย

สธ.เตือนเข้าหน้าหนาว เฝ้าระวัง! ไข้หวัด-โควิด-19 แนะสวมหน้ากากอนามัย

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก แถลงข่าวการดูแลรักษาสุขภาพช่วงฤดูหนาวให้ห่างไกลโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว หลายพื้นที่เริ่มมีอุณหภูมิลดลง อากาศเย็น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจระบาดได้ง่าย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น รวมทั้งประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ซึ่งทั้งไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 มีอาการคล้ายคลึงกัน ทำให้ประชาชนอาจเกิดความวิตกกังวลว่า หากมีอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นจากโรคใด

“ขอแนะนำว่า อย่าเพิ่งวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคโควิด-19 โดยพิจารณาก่อนว่า เรามีการเข้าไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ หากไม่มีความเสี่ยง เช่น อยู่แต่ในบ้าน และมีพฤติกรรมป้องกันตนเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เป็นต้น โอกาสที่จะเป็นโรคโควิด-19 ก็จะน้อยมาก แต่หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานที่กักกัน หรือสถานที่เคยติดโรคมาก่อน ใกล้ชิดกับคนต่างประเทศในภาวะกักกัน หากมีอาการควรไปตรวจหาเชื้อโควิด-19” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

Advertisement

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี 6 ด้าน ได้แก่ 1.การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 2.ล้างมือบ่อยๆ 3.เว้นระยะห่าง 4.หลีกเลี่ยงไปสถานที่แออัด 5.รับประทานอาหารสุกร้อน และ 6.ใช้ช้อนกลางส่วนตัว สามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 ทั้งนี้ แต่ละปีโรคไข้หวัดใหญ่จะแพร่ระบาดสูง 2 ช่วง คือ ช่วงต้นปี จากนั้นลดลงช่วงฤดูร้อน และกลับมาระบาดอีกครั้งช่วงต้นฤดูหนาว แต่จากมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่ลดลงอย่างมาก และยังลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อที่ติดจากการสัมผัสด้วย เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น ขอแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน ผู้สุงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย และหากมีอาการสงสัยโรคโควิด-19 ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ด้าน พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า ข้อแตกต่างระหว่างโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 คือ โรคไข้หวัดใหญ่ใช้ระยะเวลาการฟักตัวของโรค 1-4 วัน จึงเริ่มมีอาการ สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการ 1 วัน แต่แพร่เชื้อได้ไม่เกิน 7 วัน อาการเด่น คือ ช่วงระยะแรกของการป่วยจะมีไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล และไอ สามารถหายเองได้ใน 7 วัน การเกิดปอดอักเสบขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อที่ติดและภูมิคุ้มกันของร่างกาย การรักษามียาต้านไวรัสและมีวัคซีนป้องกันแล้ว

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า สำหรับโรคโควิด-19 หลังรับเชื้อระยะเวลาเกิดโรคโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 วัน ส่วนใหญ่ไม่เกิน 14 วัน สามารถเริ่มแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1-2 วันก่อนมีอาการ และแพร่เชื้อได้นานถึง 14 วัน แต่พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มักไม่มีอาการ แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่คือ มักมีลักษณะฉับพลัน อาการไข้ น้ำมูก และไอไม่เด่นเท่าไข้หวัดใหญ่ โดยมักเป็นไข้ต่ำๆ ประมาณ 37.5 หรือ 37.8 องศาเซลเซียส อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวและอาการไอร่วม แต่ที่เด่นชัดคือ สูญเสียการรับรสและกลิ่น สามารถหายเองได้ใน 10-14 วัน ยังไม่มียารักษาที่ชัดเจนและยังไม่มีวัคซีนป้องกัน โดยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือมีโรคอื่นร่วม มีความเสี่ยงเกิดความรุนแรงของปอดอักเสบได้

Advertisement

“ส่วนข้อสงสัยว่า ช่วงนี้อากาศเริ่มเย็น หากมีฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 แล้วเกิดภูมิแพ้ จมูกไม่ได้กลิ่น จะแยกจากโรคโควิด-19 อย่างไร หากเป็นภูมิแพ้อาการจะเด่นจะอยู่ที่อาการคัดจมูกและมีน้ำมูก โดยสามรถพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า มีลักษณะของอาการภูมิแพ้หรือไม่ เพื่อใช้ยาพ่นในการรักษา โรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 สามารถติดต่อได้เหมือนกัน ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสถูกน้ำมูก เสมหะของผู้ป่วย มีที่สัมผัสเชื้อมีการสัมผัสลูบหน้าตาจมูกปากของตนเอง ทำให้เสี่ยงรับเชื้อได้ ดังนั้น การป้องกันตนเองจากทั้ง 2 โรค สามารถทำได้เหมือนกัน คือ การสวมหน้ากาก ยิ่งใส่ทั้งคนป่วยและคนไม่ป่วยก็ยิ่งช่วยป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อ การมีระยะห่าง 1-2 เมตร ล้างมือบ่อยๆ กินของร้อน งดใช้ช้อนกลางร่วมกันได้ โดยใช้ช้อนกลางของตนเอง หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เน้นการอยู่พื้นที่โล่งและมีแดดก็จะช่วยป้องกันได้” พญ.เปี่ยมลาภ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image