กทม.ฟื้นวิถีคลอง จัดท่องเที่ยวจากกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร-สุดทะเลบางขุนเทียน

กทม.ฟื้นวิถีคลอง จัดท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ จากกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร สู่สุดทะเลบางขุนเทียน

วันนี้ (27 ตุลาคม 2563) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมฟื้นวิถีคลอง ส่องประวัติศาสตร์ “จากกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร สู่สุดทะเลบางขุนเทียน” โดยมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตธนบุรี

จากนั้น พล.ต.อ.อัศวิน นำคณะผู้บริหาร กทม. ลงเรือตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง โดยลงเรือบริเวณท่าเรือวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เขตธนบุรี เริ่มจากคลองบางกอกใหญ่ เลี้ยวซ้ายเข้าคลองด่าน ผ่านคลองบางขุนเทียน เข้าคลองสนามชัย พร้อมทั้งแวะเยี่ยมชมอนุสาวรีย์คุณกะลา บ้านคุณกะลาและพื้นที่โดยรอบ ล่องเรือต่อไปตามคลองหัวกระบือ เข้าสู่คลองพิทยาลงกรณ์ และขึ้นจากเรือบริเวณท่าเรือสะพานรักษ์ทะเลบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน

Advertisement

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า วันนี้ได้นำคณะลงเรือตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง โดยเริ่มจากคลองบางกอกใหญ่ คลองด่าน คลองสนามชัย ซึ่งเป็นคลองสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในอดีตประชาชนชาวฝั่งธนบุรีจะใช้ในการเดินเรือขนส่งสินค้าและสัญจรทางน้ำ ปัจจุบันคลองดังกล่าวมีสภาพตื้นเขิน มีวัชพืชและขยะมูลฝอยตกค้างในคลองเป็นจำนวนมาก เป็นปัญหาทางมลภาวะและเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ กทม. โดยสำนักการระบายน้ำ กลุ่มเขตกรุงธนใต้ สำนักงานเขตในพื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่-คลองสนามชัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดกิจกรรมฟื้นวิถีคลอง ส่องประวัติศาสตร์ “จากกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร สู่สุดทะเลบางขุนเทียน” เพื่อพัฒนาทำความสะอาดจัดเก็บขยะและวัชพืช ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ ปรับปรุงภูมิทัศน์ริมสอง รวมถึงรื้อถอนเสาไม้และสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลในคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ซึ่งในอนาคต กทม.มีโครงการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ต่อเนื่องจนถึงชายทะเลบางขุนเทียน โดยพัฒนาให้เป็นเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และศึกษาธรรมชาติต่อไป

ทั้งนี้ กทม.โดยสำนักการระบายน้ำ ร่วมกับกลุ่มเขตกรุงธนใต้ สำนักงานเขตในพื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่-คลองสนามชัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมฟื้นวิถีคลอง ส่องประวัติศาสตร์ “จากกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร สู่สุดทะเลบางขุนเทียน” เพื่อพัฒนาพื้นที่และปรับปรุงภูมิทัศน์คลองบางกอกใหญ่ คลองด่าน และคลองสนามชัย รวมความยาวคลองตลอดเส้นทางจัดกิจกรรม 14,700 เมตร (ม.) โดยแบ่งพื้นที่จัดกิจกรรมออกเป็น

Advertisement

โซนด้านเหนือ ความยาวทั้งสิ้น 9,050 ม. ประกอบด้วย 1.คลองบางกอกใหญ่ จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงคลองด่าน ความยาว 3,400 ม. 2.คลองด่าน จากคลองบางกอกใหญ่ถึงคลองสนามชัย ความยาว 3,050 ม. 3.คลองสนามชัย จากคลองด่านถึงคลองวัดสิงห์ ความยาว 2,600 ม. เจ้าหน้าที่เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี และเขตจอมทอง จำนวน 150 คน เรือเก็บขยะ จำนวน 23 ลำ เรือเครนถอนเสาไม้ จำนวน 1 ลำ รถขุดไฮโดรลิค ขนาด 70 แรงม้า พร้อมพอนต์ทูน จำนวน 2 ชุด ปฏิบัติการพัฒนาภูมิทัศน์ ทำความสะอาดคลองและริมคลอง

โซนด้านใต้ ความยาวทั้งสิ้น 5,650 ม. ประกอบด้วย คลองสนามชัย ช่วงที่ 1 จากวัดสิงห์ถึงวัดเลา ความยาว 2,100 ม. เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ จำนวน 100 คน สำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 200 คน เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม จำนวน 150 คน รถน้ำ จำนวน 1 คัน เรือเก็บขยะ จำนวน 30 ลำ รถบรรทุกเทท้าย จำนวน 4 คัน รถงับผักตบชวา จำนวน 1 คัน รถน้ำ จำนวน 1 คัน ร่วมปฏิบัติงาน และคลองสนามชัย ช่วงที่ 2 จากวัดเลาถึงสถานีสูบน้ำคลองสนามชัย ความยาว 3,550 ม. เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ จำนวน 300 คน เขตบางขุนเทียน เขตบางบอน เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ จำนวน 200 คน เรือเก็บขยะ จำนวน 27 ลำ รถน้ำดื่ม จำนวน 1 คัน รถบรรทุกเทท้าย จำนวน 5 คัน รถงับผักตบชวา จำนวน 1 คัน รถน้ำ จำนวน 1 คัน ปฏิบัติงาน

สำหรับกิจกรรม ประกอบด้วย การจัดเก็บขยะและวัชพืชเพื่อเปิดทางน้ำไหลในคลองบางกอกใหญ่ คลองด่าน คลองสนามชัย ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ริมสองฝั่งคลองสนามชัย ให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย การรื้อถอนเสาไม้และสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลในคลองบางกอกใหญ่และคลองด่าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ และเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ ทั้งนี้ กทม.มีโครงการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในพื้นที่ฝั่งธนบุรีต่อเนื่องจนถึงชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งในพื้นที่ฝั่งธนบุรีจะมีคลองสายหลักและคลองสายรองเชื่อมต่อกันเป็นจำนวนมาก นอกจากจะใช้ในการระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยในช่วงฤดูฝน หรือช่วงน้ำหลากแล้ว คลองสนามชัยยังใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงสำหรับกักเก็บน้ำ นอกจากนี้ ตามคลองที่กล่าวมาทั้งหมดสามารถพัฒนาให้เป็นเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และศึกษาธรรมชาติ ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อีกด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image