‘รมว.เฮ้งสั่ง’ ใช้มาตรการป้องกันเชิงรุก เพิ่มความรู้ผู้นำท้องถิ่นแก้ปมถูกหลอก-ลักลอบไปทำงานต่างประเทศ
วันนี้ (29 ตุลาคม 2563) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการกรมการจัดหางานแก้ปัญหาลักลอบไปทำงานในต่างประเทศ ชู 2 มาตรการ ดำเนินการป้องกันเชิงรุก เจาะกลุ่มเสี่ยงสร้างการรับรู้ ในพื้นที่ที่มีการหลอกลวงสูง และลงพื้นที่ให้ความรู้ผ่านผู้นำชุมชน/ท้องถิ่น หวังเป็นสื่อกลางในการนำความรู้ ที่ถูกต้องเผยแพร่สู่คนหางานโดยตรง
นายสุชาติกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แรงงานไทยจำนวนมากต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากมีอัตราค่าตอบแทนสูง มีรายได้ส่งกลับมาให้ครอบครัวเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แต่ด้วยขาดความรู้ความเข้าใจขั้นตอนและวิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง ทำให้เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ที่มีคนหางานนิยมไปทำงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงได้สั่งการให้กรมการจัดหางาน ดำเนินการมาตรการเชิงรุกในการป้องกันปัญหาการหลอกลวงคนหางาน โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ที่มีปัญหาการหลอกลวงสูง เพื่อสร้างเครือข่ายผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ และคนหางาน รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และวิธีการหลอกลวงคนหางานของกลุ่มมิจฉาชีพ ซึ่งในปัจจุบันใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น
ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที 1 – 10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการป้องกันในมาตรการเชิงรุก พร้อมทั้งให้ความรู้และข่าวสารการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในระดับตำบล หมู่บ้าน ผ่านผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น เพื่อเป็นสื่อกลางในการนำความรู้ที่ถูกต้องไปเผยแพร่ ให้แก่ประชาชนและคนหางานทราบต่อไป และเป็นการสร้างเครือข่ายในการแจ้งข้อมูล เบาะแสของสาย/นายหน้าจัดหางาน ที่มีพฤติกรรมจะเข้ามาหลอกลวงคนหางานในหมู่บ้าน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหลอกลวงคนหางาน และปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานจากกลุ่มมิจฉาชีพอีกทางหนึ่ง
นายสุชาติให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากสถิติการร้องทุกข์ของคนหางาน ในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ของกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2563 มีคนหางานร้องทุกข์ กรณีถูกสาย/นายหน้าเถื่อนหลอกลวง จำนวน 421 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 32,486,883 บาท มีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าจัดหางานเถื่อน 245 ราย ประเทศที่คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ
“สำหรับผู้ที่สนใจจะไปทำงานในต่างประเทศ ควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ตรวจสอบว่าบริษัทจัดหางานดังกล่าวเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานจริงหรือไม่ หรือตรวจสอบข้อมูลประเทศและตำแหน่งงานจากเจ้าหน้าที่ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินให้ใคร เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง นอกจากนี้ การไปทำงานต่างประเทศ ต้องไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ได้แก่ 1) บริษัทจัดหางานจัดส่งไป 2) กรมการจัดหางานจัดส่ง 3) เดินทางไปทำงานด้วยตัวเอง 4) นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไทยไปทำงาน และ 5) นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไทยไปฝึกงาน เพื่อจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดี ไม่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ และได้รับการดูแล คุ้มครองตามกฎหมาย” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว
ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ 1-10 หรือที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน