หมอศิริราช ชี้ โควิด-19 อยู่ช่วงขาขึ้น ทั่วโลกระบาดรุนแรง ไทยมี 3ปัจจัยเสี่ยง

หมอศิริราช ชี้ โควิด-19 อยู่ช่วงขาขึ้น ทั่วโลกระบาดรุนแรง ไทยมี 3 ปัจจัยเสี่ยง

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสรุปสถานการณ์ทั่วโลกของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และข้อมูลล่าสุดของการผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19

 

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ทั่วโลกพบว่า ในทุก 3-5 วัน จะมีผู้ป่วยรายใหม่ สะสมถึง 1 ล้านราย แต่ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา พบว่าใช้เวลาเพียง 2 วัน จะมีผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 1 ล้านราย

Advertisement

 

“หมายความว่า กว่าจะสิ้นสุดฤดูหนาวทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และนอกจากจำนวนผู้ป่วยใหม่ก็ยังมีอัตราเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นคู่ขนานไป ความชันอาจจะไม่สูงเท่าจำนวนผู้ป่วยใหม่ แต่ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเมื่อพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นจำนวนเตียงของแต่ละประเทศเข้าสู่จุดอิ่มตัวและไม่เพียงพอรักษา” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า ข้อมูลแต่ละประเทศ เช่น ประเทศในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 70,000-80,000 ราย และบางวันทะลุถึง 100,000 ราย โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมกว่า 900,000 ราย คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีผู้ป่วยสะสมแตะ 10 ล้านราย ต่อไปคือ ประเทศฝรั่งเศส ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่อย่างรุนแรง จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยพบผู้ป่วยรายวันมากถึงหลักหมื่นราย และมีผู้ป่วยสะสมแตะที่ 1 ล้านราย คาดว่าใช้เวลา 1 สัปดาห์ จะแตะที่ 1.5 ล้านราย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในหลายประเทศพบว่า การระบาดรอบสองรุนแรงกว่ารอบแรก ซึ่งมีสาเหตุหลายอย่างที่สามารถเรียนรู้ได้

Advertisement

“รวมถึงขณะนี้เข้าสู่ช่วงอากาศหนาว ความเสี่ยงคือ เรามักจะเข้าไปอยู่ในอาคารกันมากขึ้นและเมื่อเราอยู่ในอาคารก็มักจะไม่สวมหน้ากากอนามัย จะสวมเฉพาะเมื่อออกจากอาคาร และเมื่อเป็นอาคารปิด ก็อาจจะส่งผลต่อการแพร่เชื้อได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลแสดงให้เห็นแล้วว่าการสวมหน้ากากเป็นสิ่งที่เราทำได้และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอย่างมาก” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในทวีปเอเชีย ประเทศอินโดนีเชีย ถือว่ายังอยู่ในรอบแรกที่การพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังไม่ลดลง รวมถึงอัตราการเสียชีวิตก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ประเทศญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ใน 6 เมือง โดยขณะนี้ยังไม่มีท่าทีจะลดลง พบผู้ป่วยรายใหม่ 600-700 รายต่อวัน แต่ประเทศญี่ปุ่น ทำได้ดีในแง่ของการป้องกันอัตราการเสียชีวิต ซึ่งเป็น 1 ในกลวิธี ลดความเสียหาย สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ เรื่องการแยกกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากหากปล่อยให้ติดเชื้อมากจำนวนเตียงใน รพ. ไม่เพียงพอ ก็จะต้องกักตัวเองในบ้าน ซึ่งวิธีนี้อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น และส่งผลต่ออัตราเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศมาเลเชีย ที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยของเรา การระบาดรอบแรกดูสงบเรียบร้อยดี แต่เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา พบการติดเชื้อในประเทศมาเลเซียใกล้กับชายแดนไทย โดยมีจำนวนผู้ป่วยในกราฟที่ชันมากขึ้น และยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าจำนวนผู้ป่วยจะลดลง ตัวเลขยังแกว่งขึ้นๆ ลงๆ และอาจมีการเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ก็อาจะทำให้เกิดการระบาดในไทยได้ โดยประเทศมาเลเซียพบผู้ป่วยรายใหม่ 800-900 รายต่อวัน และหากมีผู้ป่วยสะสมมากขึ้นก็จะกระทบต่อทรัพยากรที่ใช้ในการป้องกันตัว ซึ่งเป็นผลกระทบในลักษณะห่วงโซ่ต่อไป

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนในประเทศเมียนมา พบว่า รัฐยะไข่พื้นที่ใกล้กับประเทศบังกลาเทศ ใช้เวลาเร็วในการระบาดโควิด-19 เข้าสู่เมือง เพราะช่วงแรกในการระบาดไม่ได้มีการป้องกัน ในการจำกัดเข้าออกเมือง ซึ่งดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ล่าช้าเพียง 2 วัน ก็ทำให้เกิดการระบาดได้มาก โดยขณะนี้พบว่าตัวเลขผู้ป่วยสะสมทะลุหลัก 50,000 ราย และมีอัตราเสียชีวิตในตัวเลขสองหลักมาโดยตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชาวเมียนมา พยายามเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งก็เข้าใจ แต่เมื่อเข้ามาแล้วติดตามตัวไม่ได้ ก็เป็นหนึ่งในความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโควิด-19 อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ มีการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ใช้เวลาเป็นเดือนในการควบคุมสถานการณ์ และขณะนี้พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ในเลขหลักเดียวและอัตราเสียชีวิตน้อยลง

“ขณะนี้ประเทศไทย ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยในสถานกักกันโรค (Quarantine) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของไทยคือ 3 ข้อ คือ 1.ในบริเวณชายแดนของประเทศที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกและภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง 2.ด้วยอากาศที่เย็นลงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ทำให้มีแนวโน้มว่าคนเราจะเข้าอาคารและปิดหน้าต่าง โดยมีบ่อยครั้งที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย และหากโชคไม่ดี มีผู้ป่วยในอาคารก็อาจเกิดการติดเชื้อได้ และ 3.การชุมนุมในเวลานี้ ที่มีการตะโกน หรือไม่สวมหน้ากากอนามัย เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ซึ่งไทยเราโชคดีที่ขณะนี้ยังไม่มีคนที่ติดเชื้อเข้ามาถึงตรงกลางของประเทศ และอัตราเสียชีวิตน้อย เนื่องจากผู้ป่วยรายใหม่อาการไม่รุนแรง” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สรุปได้ว่า ขณะนี้ทั่วโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้นของการระบาดโรคโควิด-19 ในหลายประเทศพบการระบาดระลอกใหม่ที่มีความรุนแรง บางประเทศถึงกับต้องใช้มาตราการล็อกดาวน์ในการจำกัดวงของผู้ป่วยไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกินศักยภาพของ รพ.ในการดูแลผู้ป่วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image