อว.ใช้หมื่นล้าน ทำ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จ้างงาน 6 หมื่นคนทำงานใน 3พัน ตำบล แก้ ยากจน

อว.ใช้หมื่นล้าน ทำ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จ้างงาน 6 หมื่นคน 3พันตำบล แก้ปัญหาว่างงาน – ยากจน

วันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ศ. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) เป็นประธานเปิดงาน โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โดยกล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศที่จะมีคนว่างงานจำนวนมากจากภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวจากสถานการณ์โควิด – 19 โครงการนี้ จะมีการจ้างงาน นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชน จำนวน 6 หมื่นคน เพื่อไปทำงานร่วมกับชุมชน จำนวน 3 พันตำบลทั่วประเทศ คนที่ได้รับการจ้างงงาน 6 หมื่นคนคือความหวังของครอบครัวและครอบครัวจะดีใจที่ลูกหลานได้งานทำซึ่งจะพอจะช่วยเยียวยาทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้ อย่างน้อย 1 ปี และ ที่สำคัญมีเรื่องที่น่ายินดี คือ อว.กำลังทำโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยจะมีการจ้างงานอีก 4,900 ตำบล ซึ่งนิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชน จะได้งานทำถึง 150,000 คน

รัฐมนตรี อว.กล่าวว่า ปัญหาการว่างงานสำคัญมากสำหรับประเทศ และ นิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำถือเป็นเรื่องใหญ่ นี่คือปัญหาที่รัฐบาลห่วงใยมากกว่าปัญหาการที่นิสิตนักศึกษาออกมาชุมนุมทางการเมือง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือการว่างงานของนิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่รวมทั้งจะพัฒนาทักษะใน 4 ด้าน ได้แก่ ดิติจัล การเงิน สังคมและภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปกับทักษะเฉพาะด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในพื้นที่ โดยโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย

Advertisement

ศ.เอนก กล่าวว่า โครงการนี้ มีเป้าหมาย คือ 1.แก้ปัญหาการว่างงาน แก้ปัญหาความยากจนของชุมชนเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง ยั่งยืน 2.ฝึกเด็กให้เป็นนักสังคมศาสตร์ ทำความเข้าใจ ในการทำข้อมูลชุมชนหรือบิ๊กดาต้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนารายพื้นที่ 3.ให้นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชน 6 หมื่นคนมีสำนึกของการปฎิบัติให้มาก ได้เรียนรู้จากการปฎิบัติ เพลิดเพลินกับการปฎิบัติโดยมีทฤษฎีจาก 76 มหาวิทยาลัยที่จะลงไปร่วมทำงานกับคน 6 หมื่นคน โดยต้องทำให้ 1 ปีของโครงการนี้เหมือนได้เข้าไปอยู่ในตักศิลาแห่งความรู้สำคัญของประเทศ ภายใน 1 ปี ตั้งเป้าว่าจะยกระดับตำบลที่มีความพร้อมไปสู่ระดับยั่งยืน ประมาณ 750 ตำบล ยกระดับตำบล ที่มีความพร้อมปานกลางไปสู่ระดับพอเพียง ประมาณ 1,500 ตำบลหรือ 50% และจากนั้น อว.จะดำเนินการการให้ครอบคลุมทั้ง 7,900 ตำบลทั่วประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image