พิษโควิด รายได้อุทยาน ฮวบ 900 ล้าน นักท่องเที่ยวลด 7 ล้านคน สิมิลัน คว้าแชมป์ 222 ล้านบาท

พิษโควิด รายได้อุทยาน ฮวบ 900 ล้าน นักท่องเที่ยวลด 7 ล้านคน สิมิลัน คว้าแชมป์ 222 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช(อส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า รายได้จากค่าบริการค่าเข้าอุทยานแห่งชาติทั้ง 155 แห่ง โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายได้อุทยานเพิ่มขึ้นทุกปี จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2558 มีประมาณ 13 ล้านคน และเพิ่มขึ้นจนแตะหลัก 20.8 ล้านคน และในปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติรวมทั่วประเทศประมาณ 8.5 ล้านคน กระทั่งทั่วโลกมาประสบโรคโควิด-19 เกือบทุกประเทศเริ่มมีมาตรการเข้มงวดในการเดินทางต่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนอุทยานแห่งชาติได้ประกาศปิดท่องเที่ยวนับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 และได้เริ่มเปิดท่องเที่ยวอีกครั้งในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 แม้นักท่องเที่ยวชาวไทยจะเริ่มกลับมาท่องเที่ยวแต่ก็มีจำนวนลดลง ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแทบจะไม่มีเลย

“โดยรายได้ค่าเข้าอุทยานปีงบประมาณ 2562 รายได้รวม 2,258 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวประมาณ 20.8 ล้านคน และปีงบประมาณ 2563 รายได้รวม 1,365 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวประมาณ 13.9 ล้านคน รายได้ลดลงไปเกือบ 900 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวหายไปเกือบ 7 ล้านคน ซึ่งเงินรายได้ส่วนใหญ่ของอุทยานฯ มาจากค่าเข้าของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทำให้รายได้อุทยานฯลดลงดังกล่าว” นายจงคล้าย กล่าว

นายจงคล้าย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาว เป็นฤดูแห่งการท่องเที่ยว โดยเฉพาะทางภาคเหนือ และเที่ยวภูเขา เช่น อุทยานฯเขาใหญ่ อุทยานฯภูชี้ฟ้า อุทยานฯห้วยน้ำดัง เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่ง แต่แหล่งท่องเที่ยวทะเล โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน คงยังไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยก็มีบ้าง แต่หากเทียบกับปี 62 ถือว่าลดลงเช่นกัน

รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เผยว่า ในวิกฤตของการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนหนึ่งก็นับเป็นโอกาสที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ฟื้นตัวขึ้น สัตว์ป่า สัตว์ทะเลออกมาให้เราเห็นกันมากขึ้น อีกทั้งตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส. และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้กำชับให้มีการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศให้ดีขึ้น ทั้งบ้านพัก ห้องน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวตามความเหมาะสมของการรองรับตามศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ และหากจะเที่ยวอุทยานต้องมีการจองผ่านแอปพลิเคชั่น QueQ ส่วนการ Walk in จะหายไปเรื่อยๆ นอกจากนี้เราได้ตั้งตู้คีออส ซึ่งเป็นตู้จ่ายเงินค่าเข้าอุทยานฯ โดยเราตั้งไว้ที่หน้าอุทยานแห่งชาติบางแห่งแล้ว เช่น อุทยานฯเขาใหญ่ อุทยานฯน้ำตกพริ้ว เป็นต้น เพื่อลดภาระของเจ้าหน้าที่ด้วย และหากต่อไประบบจองออนไลน์สามารถเชื่อมต่อการจ่ายเงินผ่านธนาคารได้ 100 % ก็จะเป็นการจองและชำระเงินผ่านทางออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งจะช่วยป้องกันการทุจริตในการเก็บค่าบริการด้วย ทั้งนี้คาดว่าระบบจะสมบูรณ์ 100% ในช่วงเดือน มีนาคม 2564

Advertisement

สำหรับปีงบประมาณ 2563 อุทยานแห่งชาติที่มีรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน รายได้ 222,565,500 บาท 2.อุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 186,079,350 บาท 3.อุทยานฯเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด 128,056,535 บาท 4.อุทยานฯอ่าวพังงา 103,973,160 บาท 5.อุทยานฯเขาใหญ่ 92,304,004.99 บาท 6.อุทยานฯดอนอินทนนท์ 70,802,072.95 บาท 7.อุทยานฯเอราวัญ 59,524,124.71 บาท 8.อุทยานฯเขาสก 57,141,415 บาท 9.อุทยานฯหมู่เกาะลันตา 32,022,520 บาท และ10.อุทยานฯตะรุเตา 23,845,588.43 บาท

ส่วนอุทยานแห่งชาติที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำนวน 1,396,988 คน 2.อุทยานฯเขาคิชฌกูฏ 948,621 คน 3.อุทยานฯเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด 921,605 คน 4.อุทยานฯดอยอินทนนท์ 732,474 คน 5.อุทยานฯถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน 723,915 คน 6.อุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 599,764 คน 7.อุทยานฯหมู่เกาะสิมิลัน 422,307 คน 8.อุทยานฯอ่าวพังงา 399,109 คน 9.อุทยานฯเอราวัณ 361,510 คน และ10.อุทยานฯน้ำตกพริ้ว 327,405 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image