สธ.รณรงค์ตระหนักรู้เชื้อดื้อยา ลดใช้ยาปฏิชีวนะรักษาหวัด-ท้องเสีย-แผลสด

สธ.รณรงค์ตระหนักรู้เชื้อดื้อยา ลดใช้ยาปฏิชีวนะรักษาหวัด-ท้องเสีย-แผลสด ทั้งคนและสัตว์

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ 22 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงาน “สัปดาห์ความตระหนักรู้เรื่องยาต้านจุลชีพโลก” ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธาน มี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าร่วมงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพและการยาอย่างเหมาะสมทั้งในบุคลากรทางการแพทย์ สัตว์แพทย์ เกษตรกรและประชาชนทั่วไป

นายอนุทิน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ จึงได้นำผู้นำจากทุกประเทศทั่วโลกรับรองปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยเรื่องยาต้านจุลชีพในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ปี 2559 ในฐานะประธานกลุ่มประเทศ G-77 และผู้นำประเทศไทย เนื่องจากเชื้อดื้อยาจุลชีพเป็นวิกฤตร่วมกันของทุกประเทศไทยทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 7 แสนราย สำหรับประเทศไทยจากการศึกษาที่ผ่านมาพบผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 38,000 ราย

“เราต้องปรับการใช้ยา ถ้าเจ็บคอแทนที่จะไปกินยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบ แต่หากไม่มีอาการมาก ก็คงต้องดื่มน้ำ พักผ่อนเยอะๆ ก็จะหายไปเองท้องเสียก็เช่นกัน หากไม่มีการติดเชื้อก็จะหายไปเอง แผลสด ก็ไม่ควรจะไปซื้อยาที่เป็นยาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะมารับประทาน เพราะบางทีมันไม่ตรงกับโรคสิ่งที่จะเป็นผลเสียคืออาจจะเกิดเชื้อดื้อยาเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ ประชาชนที่จะไปใช้ยาแก้อักเสบยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อควรจะต้องรับคำแนะนำจากแพทย์ หรือเภสัชกร อย่าไปซื้อเอง หรือไปเปิดตู้ยาประจำบ้านที่เหลืออยู่มารับประทานก็ไม่ควร เพราะจะเกิดอันตรายต่างๆ ขึ้น ดังนั้น 3 กลุ่มโรค คือ โรคหวัด ท้องเสีย และแผลสด ที่ไม่ได้เกิดการติดเชื้อ ก็ปล่อยให้หายเองได้ด้วยการพักผ่อนเยอะๆ หรือรับประทานยาตามแพทย์สั่ง” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ไพศาล กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเรื่องของอนามัยพบ ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความรู้ความรู้เรื่องการใช้ยา 13 ล้านคน จาก 50 กว่าล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 4 แสดงว่า มีอีก 40 กว่าล้านคนที่ต้องเข้าไปให้ความรู้ และสิ่งที่ต้องรู้คือ เรื่อง 3 โรคหลัก ทั่วไปที่มีการใช้ยาผิดมาก ทั้งแผลสดที่ไม่มีการติดเชื้อ ท้องเสีย และโรคไข้หวัด ซึ่งเครือซึ่งเครือข่ายทั้งหลายทางวิชาการและได้ร่วมมือกันในการให้ความรู้ประชาชน นอกจากนี้ หลักการใช้ยาต้านจุลชีพภายใต้สุขภาพหนึ่งเดียว คือ คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นหนึ่งเดียวหมายความว่าทั้งสัตว์เกษตรสิ่งแวดล้อมต้องมีการใช้แอนตี้ไบโอติกยาปฏิชีวนะด้วย เพราะหากให้ยาที่ไม่ถูกต้องในสัตว์ แล้วมนุษย์ต้องรับประทานเนื้อสัตว์ ยาปฏิชีวนะก็จะกลับเข้าสู่ร่างกายทำให้ขนาดใช้ยา ไม่ได้ไม่ตรงโรค และเชื้อดื้อยาก็เกิดการปรับตัว โดยในปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถคุมเรื่องนี้ได้

“ประเด็นที่เราเน้นคือ เรื่องยาปฏิชีวนะ 3 โรคทั้งท้องเสีย แผลสดที่สะอาด และ ไข้หวัดในโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีเครือข่ายทางโรงพยาบาลในส่วนของ สธ. ไปจนถึงโรงพยาบาลเอกชน จะมีวิธีการทำงานแบบตั้งเป้าให้ใช้ยาปฏิชีวนะใน 3 โรคนี้ให้น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยในปี 2560-2563 จากทั้งหมดประมาณ 1,000 แห่ง ผลดำเนินงานได้มา 871 แห่ง โดยโรคทางเดินหายใจส่วนบนหรือว่าทั่วๆ ไปถือว่าดีขึ้น และโรงพยาบาลที่ใช้ยาสมเหตุผลเพิ่มขึ้น 600 แห่ง ซึ่งเหลือไม่มากถือเป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นมากๆ ไม่เพียงโรงพยาบาลอย่างเดียว ยังมีสถานีอนามัยเดิมหรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ป่วยมารักษาเรื่องท้องเสีย ที่อนามัยเป็นประจำ หรือบริการปฐมภูมิ แต่ให้มีการดื่มเกลือแร่เมื่อท้องเสีย ซึ่งรณรงค์ไปถึงร้านขายยาด้วย” นพ.ไพศาล กล่าว

Advertisement

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ในส่วนของการแยกระหว่างโรคไข้หวัดธรรมดาที่เกิดจากไวรัส ซึ่งสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรับประทานยา และไข้หวัดที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียที่จะต้องได้รับยาอย่างเหมาะสมและถูกต้องนั้น เมื่อมีอาการไอ เจ็บคอ ในช่วง 1-3 วันแรก จะต้องสังเกตด้วยการอ้าปากหาตุ่มหนองในช่องปาก หรือ ลำคอ หากไม่มีตุ่มหนองก็ไม่ต้องรับยาปฏิชีวนะ เนื่องจากประมาณร้อยละ 90 ของอาการจะเกิดจากเชื้อไวรัส ให้รับประทานน้ำ และพักผ่อนให้มากขึ้น หลังจากนั้นอาการจะหายไปเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดการใช้ยาปฏิชีวนะป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา

ด้าน น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของยาสัตว์ก็มีการปรับและลด เลิกใช้ยาบางชนิด ทั้งยาเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ การรักษาอาการหวัด และปวดท้องใน สุกร และ ไก่ เพราะส่วนใหญ่เป็นการให้ยาป้องกันอาการแต่ต้นในฟาร์ม โดยปัจจุบันปรับให้การสั่งยาต้องทำในสัตวแพทย์เท่านั้น และเน้นการใช้กลุ่มยาสมุนไพร เพื่อเป็นทางเลือกในสัตว์มากขึ้น เช่น การใช้ ฟ้าทะลายโจร บรรเทาอาการหวัด การใช้ ขมิ้นชัน รักษาอาการปวดท้องหรือลำไส้ในหมู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image