กทม.ถกมาตรการสกัดฝุ่นพิษ จ่อห้ามหกล้อเข้าเขตชั้นใน 6 โมงเช้า-3ทุ่ม

กทม.เชิญผู้เชี่ยวชาญถกมาตรการสกัดฝุ่นพิษ จ่อห้ามหกล้อเข้าเขตชั้นใน 6 โมงเช้า-3ทุ่ม

วันนี้ (17 พฤศจิกายน 2563) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร โดยมี คณะผู้บริหาร กทม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ ร่วมหารือ ที่ศาลาว่าการ กทม.(เสาชิงช้า)

พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยว่า กทม.ได้เชิญคณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อมจากสถานศึกษา และหน่วยงานที่มีชื่อเสียงมาร่วมให้องค์ความรู้กับหน่วยงานของ กทม. เพื่อนำไปประกอบการจัดเตรียมแผนการทำงานเพื่อป้องกันและไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ และข้อมูลทั้งหมดในวันนี้จะนำมาวิเคราะห์ว่าประเด็นใดที่จำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วน และกำหนดเป็นแผนเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาแผนให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

Advertisement

ต่อมา ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. เปิดเผยว่า ในที่ประชุมวันนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เสนอแนะการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ หลายประเด็น โดยในส่วนของ กทม.ได้เตรียมพร้อมแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2564 โดยเริ่มดำเนินการระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2563 –วันที่ 28 กุมภภาพันธ์ 2564 แบ่งเป็นระยะตามสถานการณ์ฝุ่น คือ มาตรการสำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จะดำเนินการห้ามรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป เข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 06.00 – 21.00 น. การกำกับดูแลสถานที่ก่อสร้าง บริการตรวจเช็กควันดำเครื่องยนต์ฟรี ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมในการปล่อยควันดำ การล้างถนน กวดขัน ตรวจตราไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง งดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็กเล็ก และประชาสัมพันธ์ให้สวมหน้ากากอนามัย ติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่น 50 สำนักงานเขต และสวนสาธารณะ 20 แห่งทั่วกรุงเทพฯ เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารสูง เปิดสายด่วน 1584 เพื่อแจ้งเบาะแสรถควันดำ และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้บริการติดตามคุณภาพอากาศผ่านแอพพลิเคชั่น

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า ส่วนมาตรการสำหรับสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 ระหว่าง 50-75 มคก./ลบ.ม. จะดำเนินการปิดการเรียนการสอนโรงเรียนสังกัด กทม. ครั้งละไม่เกิน 3 วัน การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดในการเผา การงดกิจกรรมก่อสร้างทุกประเภทที่เกิดฝุ่น การห้ามจอดรถริมถนนในถนนหลัก ถนนรอง การจัดให้มี Safe Zone ในทุกโรงเรียน และศูนย์เด็กเล็กสังกัด กทม. เก็บขยะมูลฝอยให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 04.00 น. และการออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยบริการเคลื่อนที่ กทม.

Advertisement

มาตรการสำหรับสถานการณ์ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 76 มคก./ลบ.ม. จะดำเนินการสั่งหยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 5-7 วัน ปิดการเรียนการสอนครั้งละไม่เกิน 15 วัน ให้บุคลากรของ กทม.เหลื่อมเวลาการทำงานและลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้มาตรการจับปรับจอดรถไม่ดับเครื่อง และประสานให้หน่วยงานราชการใช้ระบบขนส่งมวลชน การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำผิดในการเผา การตรวจวัดควันดำรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคัน” โฆษก กทม.กล่าวและว่า นอกจากนี้ กทม.จะดำเนินการมาตรการระยะยาว ได้แก่ การปลูกป่าเป็นแนวกันชน (Buffer Zone) การเร่งออกกฎกระทรวงให้รถยนต์ผ่านเกณฑ์มาตรฐานควันดำวิ่งได้เท่านั้น การพัฒนาเทคโนโลยีระบบควบคุมกล้องตรวจวัดควันดำ และการรณรงค์ให้ภาคเกษตรปลอดการเผา การกำหนดให้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่เข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องปลอดเขม่าควัน การผลักดันผู้ประกอบการผลิตน้ำมันดีเซลลดก๊าซกำมะถัน ส่งเสริมสถานจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 และเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากฝุ่น PM2.5

โฆษก กทม. กล่าวว่า กทม.จะยังคงมาตรการการฉีดพ่นน้ำล้างต้นไม้ การล้างถนน และการฉีดพ่นละอองจากอาคารสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการฉีดพ่นน้ำล้างต้นไม้จะช่วยให้ฝุ่นละอองที่ลอยในอากาศถูกดักจับโดยต้นไม้ การล้างใบไม้จะช่วยให้ดักจับฝุ่นได้เพิ่มขึ้น การล้างพื้นถนนจะช่วยให้ฝุ่นที่ตกลงบนถนนถูกจับกับน้ำไม่ฟุ้งกระจาย และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่เดินสัญจรไปมา และการฉีดน้ำบนอาคารสูง จะช่วยดักจับฝุ่นละอองโดยรอบอาคาร เปรียบเสมือนเครื่องกรองอากาศชั้นหนึ่งสำหรับผู้ที่อยู่ในอาคาร

ด้าน พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.ได้เตรียมแผนสำหรับการดำเนินการไว้แล้ว การประชุมครั้งนี้ได้เสนอให้ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันตรวจความเหมาะสมของแผน อีกประการที่สำคัญเช่นเดียวกันคือ การให้ความรู้กับเด็ก เยาวชน เพื่อลดปัจจัยการเกิดฝุ่น PM2.5 ในอนาคต การให้ข้อมูลประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของฝุ่นละอองแบบเรียล ไทม์ (Real Time) เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่กับปัญหาฝุ่นได้เหมือนกับที่สามารถอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้ด้วยดี

วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน รับมอบสิ่งของบริจาค ได้แก่ พัดลม 2,127 ตัว และแผ่นกรองอากาศแฮปป้า 40,160 ตารางเมตร สำหรับใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จาก นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. Mr.Chen qui Xiong และ นายสมศักดิ์ แซ่อึ้ง สมาคมนักธุรกิจยุคใหม่ไทย-จีน ผู้บริหารและผู้แทนจากสมาคมการค้าผู้ประกอบการรีไซเคิลไทย บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เบสท์เวิร์ค (ไทยแลนด์) จำกัด เวทีมวยราชดำเนิน บริษัท แฟมิลี่คอร์ป จำกัด บริษัท เอส บี ที สตาร์ จำกัด บริษัท ธรรมจรัส จำกัด บริษัท เอส ดี เพอร์เฟคโฮม จำกัด ตลาดเอี่ยมสมบัติ สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง กลุ่มเขตกรุงธนใต้ และกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ที่ได้รับบริจาคจากประชาชนในแต่ละพื้นที่เขต

ทั้งนี้ กทม.จะนำพัดลมและและแผ่นกรองอากาศแฮปป้าไปจัดทำห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร จำนวน 292 ศูนย์ จำนวน 1,000 ห้อง ห้องเรียนเด็กเล็กในโรงเรียนสังกัด กทม. 437 แห่ง รวมถึงห้องปลอดฝุ่นส่วนกลางในทุกโรงเรียนสำหรับเป็นสถานที่ให้เด็กรอผู้ปกครองรับกลับบ้าน จำนวน 1,500 ห้อง รวมห้องปลอดฝุ่นที่ กทม.กำหนดเป้าหมายจัดทำ ทั้งสิ้น 2,500 ห้อง โดยจะจัดทำห้องปลอดฝุ่นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ธันวาคมนี้

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนประชาชนทั่วไป หรือหน่วยงานผู้มีจิตศรัทธาร่วมสนับสนุนบริจาคพัดลมเพื่อให้ครบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 ตัว โดยสามารถติดต่อเพื่อบริจาคได้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาพื้นที่ในโรงเรียนสังกัด กทม. ให้เป็นพื้นที่ปลอดฝุ่นสำหรับเด็กๆ ต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image