จุฬาฯ โอดรัฐขยักจ่ายงบทดลองวัคซีนโควิด-19 ต้องรับบริจาคเพิ่ม

แฟ้มภาพ
จุฬาฯ โอดรัฐขยักจ่ายงบทดลองวัคซีนโควิด-19 ต้องรับบริจาคเพิ่ม

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเดอะริชมอนด์ นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทดลองวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ขณะนี้สถานการณ์การศึกษาวิจัยโควิด-19 ทั่วโลก มีวัคซีนจาก 2 บริษัท ที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จ ได้แก่ บริษัท ไฟเซอร์ อิงค์และ บริษัท โมเดอร์นา และยังมีวัคซีนอีก 11 บริษัท ที่ยังต้องรอลุ้นผล

“หากวัคซีนทุกบริษัทประสบความสำเร็จจริง โอกาสที่ทุกประเทศจะได้รับวัคซีนก็มีเพิ่มมากขึ้น และ สถานการณ์โรคโควิด-19 ก็ไม่น่ารุนแรงอีกต่อไป แต่หากมีแค่ 2 บริษัท ก็น่าห่วงว่าโอกาสที่แต่ละประเทศจะได้รับวัคซีนก็มีน้อยลง เพราะประเทศมหาอำนาจต่างจองซื้อวัคซีนกันไปหมดแล้ว โดยพบว่า สหรัฐอเมริกาจอง 300 ล้านโดส และยังมีการจองเพิ่มเติมอีก ขณะที่ญี่ปุ่นจอง 120 ล้านโดส” นพ.เกียรติ กล่าว

นพ.เกียรติ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย ขณะนี้กำลังเข้าสู่การจองโรงงานวัคซีนเพื่อผลิตวัคซีนต้นแบบมาฉีดทดลองในคน คาดว่าจะเริ่มการทดลองในเดือนเมษายน 2564 โดยขณะนี้ทางบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ที่ร่วมการทดลองด้วยกัน ก็มีการนำงบส่วนตัวมาร่วมจัดซื้อวัตถุดิบในการผลิต ทั้งขวดใส่ยา และอื่นๆ แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือ น้ำยาที่จะใช้ในการผลิต คาดว่าอาจไม่เพียงพอ เพราะบริษัทใหญ่ๆ จองซื้อไปหมดแล้ว ขณะนี้แม้ในกระบวนศึกษาทดลองของจุฬาลงกรณ์เองจะได้รับงบประมาณ 300 ล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติ กลับได้รับแบบทยอยจ่าย งวดละ 42 ล้านบาท แม้ว่า รัฐบาลจริงจังและอยากให้ความสำคัญ แต่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงกว่า 1,000 ล้านบาท

Advertisement

“ยอมรับว่า ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนวิจัยวัคซีนได้รับความร่วมมือทางวิชาการทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แต่งบประมาณส่วนที่ได้จากรัฐอาจไม่ทัน ก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาค” นพ.เกียรติ กล่าวและว่า สำหรับไทยการเข้าถึงวัคซีนที่จะมีการจัดซื้อ เชื่อว่ารัฐบาลเดินทางมาถูกแล้ว ที่มีการกระจาย เรื่องของการจัดซื้อ ผ่านโครงการโคแวกซ์ และ การร่วมทุนกับบริษัทแอสตรา เซนเนกา แต่เชื่อว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่ทั่วโลกทุกประเทศจะได้รับวัคซีนทั้งหมดเกินครึ่ง จึงจำเป็นต้องมีการจัดสรรให้กับกลุ่มเสี่ยงก่อน และในส่วนของความร่วมมือ บริษัท แอสตรา เซนเนกา คาดว่าจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ได้จริง ก็หลังบริษัทอื่นอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนโมเดอร์นาก็จะช้ากว่าไฟเซอร์ 2 เดือน

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานบอร์ด บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวถึงความคืบหน้าการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากบริษัทแอสตรา เซนเนกา ในการผลิตวัคซีนโควิด -19 ว่า คาดว่ากระบวนถ่ายทอดเทคโนโลยีจะมีได้ หลังจากวัคซีนผลิตสำเร็จปลอดภัย ไปแล้ว 5-6 เดือน จากนั้น ก็รอการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประมาณ 2-3 เดือน จึงจะเริ่มกระบวนการผลิตได้อย่างจริงจัง และคาดว่ากำลังการผลิตเต็มที่ก็ได้วัคซีนประมาณ 20 ล้านโดส ซึ่งเงื่อนไขการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องให้การช่วยเหลือแบ่งปันในภูมิอาเซียน ได้แก่ กลุ่มประเทศ CLMV

Advertisement

“ส่วนเรื่องยาเรมดิสซิเวียร์ ที่องค์การอนามัยโลก ประกาศว่า ไม่ควรใช้นั้น และทำให้เหลือยาฟาวิพิราเวียร์ตัวเดียว จากการสอบถามกรมควบคุมโรค ทราบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ติดสิทธิบัตร แต่ว่ายังไม่จำเป็นต้องผลิต เพราะยังมีเพียงพอ และคาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากนี้ อาจไม่รุนแรงเท่ารอบแรก เพราะมีการเตรียมตัวและเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้พร้อมแล้ว เชื่อว่ารับมือได้” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image