ชาวคอนโดฯ 89% หนุนรัฐออก กม.เพิ่มพื้นที่ห้ามสูบ ชี้ทำเสียสุขภาพ

ชาวคอนโดฯ 89% หนุนรัฐออก กม.เพิ่มพื้นที่ห้ามสูบ ชี้ทำเสียสุขภาพ

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่โรงแรมเดอะสุโกศล สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (สสท.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวและเสวนาวิชาการ เรื่อง “การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุด” เพื่อแก้ปัญหาการสูบบุหรี่และคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุดของประเทศไทย

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2562 ระบุว่า ยาสูบฆ่าคนมากกว่า 8 ล้านคนต่อปี เป็นผู้ใช้ยาสูบโดยตรงเสียชีวิตกว่า 7 ล้านคน และอีก 1.2 ล้านคน เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง ทั้งนี้ ปัจจุบันสังคมไทยมีความเป็นเมืองมากขึ้น ปัญหาเรื่องควันบุหรี่ของผู้ที่สูบในอาคารชุด เช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ ฯลฯ เป็นปัญหาที่สังคมต้องการแนวทางแก้ปัญหา

รศ.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2563 ช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม จำนวน 1,204 ราย พบว่า ผู้ที่พักอาศัยในอาคารชุด ร้อยละ 15 เป็นผู้สูบบุหรี่ ร้อยละ 78 ไม่สูบบุหรี่ โดยผู้สูบบุหรี่ ร้อยละ 45 สูบนอกห้องตรงริมระเบียง ซึ่งผู้ที่อาศัยในอาคารชุด ร้อยละ 89 เห็นด้วยให้ที่พักอาศัยในอาคารชุดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ เพราะ ร้อยละ 77 รู้สึกไม่สบายจากการหายใจที่มีผู้สูบบุหรี่ในอาคารชุด ร้อยละ 73 เคยได้กลิ่นควันบุหรี่ที่ลอยมาจากห้องอื่น และส่วนใหญ่เคยรับควันบุหรี่มือสองในพื้นที่ส่วนกลาง สะท้อนว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนส่วนน้อย ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่พักอาศัยร่วมกัน

Advertisement

รศ.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหิดล กล่าวว่า การสูบบุหรี่ในอาคารชุดส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่สามารถกระจายลอยผ่านไปยังห้องอื่นๆ ตามช่องระบายอากาศ หน้าต่าง และรอยแตกในผนังหรือพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน จึงไม่มีระดับที่ปลอดภัยจากการสัมผัสควันบุหรี่ ทั้งนี้ อาคารชุดที่ปลอดบุหรี่จะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้พักอาศัยและประหยัดเงินได้มากด้วย โดยสหรัฐอเมริการายงานว่า การห้ามสูบบุหรี่ในอาคารชุดช่วยประหยัดเงินได้ถึงปีละ 153 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 5,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดอาคารที่มีคนสูบบุหรี่ และลดความเสียหายจากเหตุไฟไหม้

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2561 ไม่ได้กำหนดให้อาคารชุดเป็นเขตปลอดบุหรี่ จึงยังไม่สามารถเอาผิดตามกฎหมายฉบับนี้ได้ จึงควรปรับปรุงกฎหมายให้อาคารชุดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ และผู้พักอาศัยในอาคารชุดที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ควรร้องเรียนเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพราะถือเป็นเหตุรำคาญตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image