20 องค์กรเยาวชนฯ ยื่น 4 ข้อ ถึงประธานสภาฯ วอนคัดค้านแก้ กม.น้ำเมา

20 องค์กรเยาวชนฯ ยื่น 4 ข้อ ถึงประธานสภาฯ วอนคัดค้านแก้ กม.น้ำเมา

วันที่ 24พฤศจิกายน ที่ อาคารรัฐสภา นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน พร้อมด้วย น.ส.วิกานดา ผิวกระด้าง ตัวแทนเยาวชนเหยื่อเมาแล้วขับ(ต้องนั่งวิลแชร์) เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่และแกนนำเยาวชนจาก 20 องค์กร ยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านทาง นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านความพยายามเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ของกลุ่มผู้ประกอบการคราฟเบียร์ กลุ่มทุนน้ำเมารายใหญ่ และทุนข้ามชาติ ทั้งนี้เครือข่ายเยาวชนได้แต่งตัวเสื้อขาวเปื้อนคาบสีดำเพื่อสะท้อนถึงเด็ก เยาวชนผู้ได้รับผลกระทบแทนด้วยสีขาว ต้องแปดเปื้อนบอบช้ำการสูญเสียจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แทนด้วยสีดำ

นายธีรภัทร์  กล่าวว่า จากกรณีกลุ่มคราฟเบียร์ เรียกร้องให้ แก้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 การโฆษณา และอีกหลายมาตรา โดยอ้างว่าไม่เป็นธรรม ขัดขวางธุรกิจสุรารายเล็ก กลั่นแกล้งคนจน เป็นเครื่องมือหาประโยชน์จากสินบนนำจับ อ้างว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเครือข่ายฯ มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจรายย่อย และอุตสาหกรรมรายใหญ่ทั้งในและทุนข้ามชาติ เพื่อหวังลดทอนกลไกควบคุมโฆษณาให้อ่อนแอลง เปิดทางให้เร่ขายแจกชิมเสรี เลยเถิดถึงขั้นเสนอขายให้คนเมาได้ตามดุลยพินิจของผู้ขายโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ฯลฯ สุดท้ายผลกระทบตกอยู่ที่เด็กเยาวชนสังคม สะท้อนจากข้อมูล นักดื่มหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นปีละ 250,000 รายต่อปี คนไทยเสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 26,000 ราย หากพ่อแม่ดื่ม ความรุนแรงในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าของครอบครัวที่ไม่ดื่ม เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในสถานพินิจกว่าร้อยละ 60 กระทำความผิดหลังการดื่ม ไม่รวมถึงมูลค่าความสูญเสียโอกาสจากการทำงาน ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่มากกว่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี

“เครือข่ายฯ ขอแสดงจุดยืนและข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอคัดค้านความพยายามของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งมีสาระเพื่อการลดทอนประสิทธิภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิต นำเข้าและจัดจำหน่าย 2.เครือข่ายฯสนับสนุนประเด็นลดการผูกขาด ของตลาดธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย แต่ควรแก้ปัญหาให้ตรงจุด ที่ประมวลกฎหมายสรรพสามิตไม่ใช่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีประชาชนเข้าชื่อสนับสนุนกันมากกว่า 13 ล้านรายชื่อ” นายธีรภัทร์ กล่าว

Advertisement

 

Advertisement

นายธีรภัทร์ กล่าวต่อว่า 3.ขอเรียกร้องรัฐสภารับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน หากมีประเด็นการขอแก้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ควรยึดหลักการแก้ไขให้การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ห้ามโฆษณาทุกกรณี กรณีคนเมาไปก่อเหตุให้ร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ร่วมรับผิดด้วย เป็นต้น ไม่ใช่แก้ไขให้อ่อนแอลง เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา เป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสังคมมากมาย หากปล่อยให้ค้าขายดื่มกินกันอย่างไร้ขอบเขต และ 4.ขอเรียกร้องไปยังกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มที่เคลื่อนไหวผลักดันแก้กฎหมายฉบับนี้ ให้หันมาค้าขายประกอบการอย่างรับผิดชอบตามกรอบของกฎหมาย ดีกว่าพยายามหาช่องสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง และหยุดผลักภาระให้คนดื่ม เพราะวาทกรรมดื่มอย่างรับผิดชอบนั้นแม้ในด้านหนึ่งจะดูดีและเหมือนจะถูกต้อง แต่ในทางกลับกันมันคือการผลักภาระทั้งหมดให้ผู้ดื่ม จนบรรดาผู้ขายผู้ผลิต ลอยตัวออกจากความรับผิดชอบทั้งที่เป็นฝ่ายได้ประโยชน์ในทางธุรกิจ แต่ผลกระทบทางสังคมคนไทยคือผู้รับผลกรรม

“การห้ามโฆษณา มาตรา32 เป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ หากแก้ไขเท่ากับว่าปล่อยให้ธุรกิจน้ำเมาทำการตลาดโดยเสรี ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ ประชาชนมากกว่า 13 ล้านคนได้เข้าชื่อและร่วมกันผลักดัน  เพื่อหวังเห็นการลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโดยหลักการหากจะแก้ไขต้องดีกว่าเดิมและเป็นประโยชน์กับสังคม เช่น ห้ามโฆษณาโดยเด็ดขาด ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ารัฐสภาจะไม่นำเรื่องนี้มาพิจารณา ท่าน สส. สว. ต้องรับฟังอย่างรอบด้าน ไม่เร่งรีบที่จะตัดสินใจ ต้องฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหลายส่วน ไม่ใช่รับฟังแต่ภาคธุรกิจอย่างเดียว” นายธีรภัทร์ กล่าว

ด้าน นางสาววิกานดา กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องสูญเสียร่างกาย สูญเสียโอกาสในชีวิต และยังส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในทุกด้าน ทั้งต่อตัวผู้ดื่ม ครอบครัว ชุมชน สังคม จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายควบคุมเพื่อลดผลกระทบ และไม่ใช่แค่มาตรการแก้ปัญหาเมาแล้วขับอย่างเดียว เพราะสุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา หากจะมีการแก้กฎหมาย ต้องแก้ให้แข็งแรง เช่น กำหนดจำนวนใบอนุญาตต่อความหนาแน่นของประชากร โดยปัจจุบันจำนวนใบอนุญาตต่อประชากร คิดเป็น 1 ใบ ต่อ 100 คน ให้ผู้ขายทุกคนควรจะต้องมีใบอนุญาตมีการอบรมสร้างความเข้าใจก่อนจึงสามารถขายสุราได้ หรือหากมีอุบัติเหตุจากคนเมาแล้วขับ ผู้ที่ขายให้คนเมาคนนั้นควรจะต้องมีส่วนรับผิดชอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย อย่างเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นต้น สิ่งที่อยากให้ช่วยกันขบคิดกันเช่นทำอย่างไรให้คนดื่มไม่ขับรถ ผู้ขายไม่ขายเหล้าเบียร์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ขายให้คนเมาที่ครองสติไม่ได้ อยากให้สภามาช่วยกันทำเรื่องนี้ดีกว่าไปแก้กฎหมายให้อ่อนแอ

และในตอนท้าย นายอัครพงษ์ บุญมี อดีตเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ตนเคยต้องโทษสิ้นอิสรภาพ อยู่ในสถานพินิจบ้านกาญจนาฯ เพราะเมาขาดสิติ และต้องรับสภาพความผิดไป 3 ปีกว่า จากนั้นจึงเริ่มหันมาทำงานรณรงค์ รู้ถึงพิษภัยและปัญหาของน้ำเมา และร่วมผลักดันกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนมีผลบังคับใช้ จึงไม่ยอมที่จะให้เกิดการแก้ไขเพียงเพราะประโยชน์ในทางการค้าของธุรกิจน้ำเมา มันฟังไม่ขึ้นเลย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image