ลุ้น อนุทิน เซ็นปลดล็อก ‘กัญชา-กัญชง’ ทุกส่วนทั้ง ‘ก้าน-ราก-ใบ’ ไม่ถือเป็นยาเสพติด

ลุ้น อนุทิน เซ็นปลดล็อก ‘กัญชา-กัญชง’ ทุกส่วนทั้ง ‘ก้าน-ราก-ใบ’ ไม่ถือเป็นยาเสพติด ยกเว้นแค่ ‘ช่อดอก’

วันที่ 26 พฤศจิกายน ต้องรอลุ้นว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะลงนามเซ็นประกาศ สธ.เพื่อปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” เกือบทุกส่วน ยกเว้น “ช่อดอก” พ้นจากบัญชียาเสพติดหรือยัง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. พร้อม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการการควบคุมยาเสพติดให้โทษ และนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมแถลงผลการปลดล็อกพืชกัญชา-กัญชง

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ตามนโยบายการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์และส่งเสริมให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจเป้าหมายของประเทศไทย ซึ่งการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน มีมติว่า วิธีภูมิปัญญาด้านสุขภาพของไทยมีการนำส่วนของใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น รากมาใช้ จึงปลดส่วนนี้ออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ทั้งนี้ มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยจะเสนอให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ลงนามโดยเร็วที่สุด และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

“พืชกัญชาและกัญชงถูกระบุไว้ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นตัวกฎหมายแม่ ว่าเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 โดยเนื้อหาความในประกาศที่จะออกโดยรัฐมนตรีว่าการ สธ. เร็วๆ นี้ คือ เรื่องการไม่จัดในส่วนของ 1.เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก และใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย 2.เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง 3.สารสกัดที่มีแคนนาบิสไอออน (CBD) ไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการนำส่วนของพืชเหล่านี้ไปใช้เพื่อทำผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง หรืออาหารได้ แต่มีข้อแม้ที่สำคัญว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นการได้รับอนุญาตผลิต ปลูกจากในประเทศเท่านั้น โดยมีข้อกำหนดในการปลูกคือเป็นวิสาหกิจชุมชน การร่วมกับภาครัฐบาล การศึกษาและวิจัยที่ขออนุญาตการปลูกอย่างถูกต้อง โดยผลผลิตที่ไม่ใช่ช่อดอกจะไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ด้วย”นพ.เกียรติภูมิกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ไพศาล กล่าวว่า การอนุญาตยังเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อดูแลตนเอง และทางการแพทย์ รักษาสุขภาพ การใช้ในตำรับยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร นำเส้นใยไปใช้เป็นสิ่งทอเสื้อผ้า การนำมาสกัดเป็นยาทั้งในการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน โดย อย.จะมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ และมีการตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตผ่านทางเว็บไซต์ http.//cannabis.fda.moph.go.th โดยสิ่งที่เน้นย้ำคือจะต้องเป็นการผลิตในประเทศและการได้รับอนุญาตที่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนในเรื่องของการอนุญาตใบนั้น จะต้องไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย และการสกัดสารทีเอชซี และซีบีดีไม่เกิน ร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก

ด้าน ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ในฐานะคณะกรรมการการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ถึงได้มีการสืบค้นการใช้ด้านภูมิปัญญาและผลทางด้านเภสัชวิทยา พบว่าใบกัญชาอยู่คู่วิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่โบราณ ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นผัก ไม่มีสารเมา ไม่มีสาร THC สามารถรับประทานเป็นผักได้ ยอดอ่อนที่งอกจากเมล็ดสามารถรับประทานคู่กับสลัดได้ ส่วนใบสามารถนำมาชงเป็นชาได้ จากการสืบค้นและพูดคุยกับผู้สูบ พบว่าไม่ใช้ใบในการสูบ เนื่องจากมีสารที่ทำให้ระคายคอ ไม่มีอาการมึนเมาและยังก่อให้เกิดอาการไออีกด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ (International Narcotic Control Board: INCB) ไม่ได้บรรจุใบกัญชาในประกาศยาเสพติด แต่จะต้องมีการควบคุม เมื่อตระหนักผลดีแล้วเพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม จึงมีการผลักดันให้ปลดล็อคออกจากยาเสพติดภายใต้การศึกษาอย่างรอบด้าน คำนึงถึงผลกระทบจากทุกมิติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การให้อนุญาตประชาชนครอบครองและใช้ได้อย่างถูกวิธีจะต้องเป็นกลุ่มประชาชนที่เป็นผู้ป่วยที่มีใบรับรองแพทย์หรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ในส่วนของการครอบครองพืชกัญชา มีคีย์เวิร์ดที่สำคัญคือ 1.การควบคุมเริ่มต้นตั้งแต่การผลิต การปลูก สกัด จะต้องผ่านการขออนุญาตโดยผู้ได้รับอนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 โดยปัจจุบันนี้มีการอนุญาต 1.หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย 2.วิชาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้าน 3.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และ 4.วิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ หน่วยบทเฉพาะกาลของ ฉบับที่ 7 ระบุว่า กลุ่มต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นจะต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ

Advertisement

“ส่วนที่ถามว่าครอบครองได้หรือไหม คือ ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติดังที่กล่าวข้างต้น หากมีประกาศกระทรวงฉบับแล้วในส่วนของแพทย์และแพทย์แผนไทย สามารถนำมาปรุงและจ่ายให้กับผู้ป่วยของตนเองได้ ซึ่งต่างจากเรื่องของการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา อันนั้นจะเป็นเรื่องของผู้ป่วยสามารถปลูกได้เอง และแพทย์สามารถจัดการได้เอง แต่จะต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งและกลับมาให้ รมว.สธ. ลงนาม ทั้งนี้ เรายังอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับที่ 7 อยู่ ก็ต้องทำตามในส่วนนี้” นพ.ไพศาลกล่าว

นพ.ไพศาลกล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ว่า ผู้ที่จะปลูกได้จะต้องตรงตามคุณสมบัติและวัตถุประสงค์ ยกตัวอย่างเช่น วิสาหกิจชุมชนที่ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ปลูกและเพื่อนำไปทำเป็นยา ดังนั้น ผู้ที่มีคุณสมบัติหรือเป็นวิสาหกิจชุมชนที่แสดงให้เห็นได้ว่าตนเองสามารถปลูกและดูแลได้ เพื่อนำไปใช้ตรงวัตถุประสงค์คือทางการแพทย์ การดูแลตนเองได้ก็ไม่มีปัญหา หนึ่งบ้านจะปลูกกี่ต้นก็ไม่ใช่ประเด็นเพียงแต่ว่าจะต้องมีโครงการและใบอนุญาตชัดเจน โดยผู้ที่ขออนุญาตก็จะมีคุณสมบัติตามบทเฉพาะกาลด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image