อนุทิน ชาญวีรกูล คีย์แมนสำคัญยกระดับบัตรทอง

การยกระดับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 เรื่อง ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ประกอบด้วย การเปิดให้ผู้ใช้สิทธิ บัตรทองŽ เข้ารับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับบริการได้ทุกที่ในโรงพยาบาลที่มีความพร้อม และการแจ้งเปลี่ยนหน่วยบริการประจำแล้วใช้สิทธิได้เลยโดยไม่ต้องรอ 15 วัน ถือเป็นพัฒนาการอีกก้าวใหญ่ของระบบบัตรทอง

ทว่านับเป็นเรื่องยากในการผลักดัน เพราะต้องใช้พลังในระดับนโยบายอย่างมาก ลำพังแค่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยากจะทำ ถ้าหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ตอบสนองก็ไม่สามารถทำได้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็น คีย์แมนŽ หนึ่งที่ผลักดันนโยบายเหล่านี้

Advertisement

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นายอนุทินได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ยกระดับบัตรทอง 4 บริการ สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่Ž ในงานประชุมสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาคประชาชนยกระดับบัตรทอง 4 บริการ สู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ และได้อธิบายหลักคิดในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

“เพราะเป็นเรื่องยาก เราถึงต้องทำ ตัวผมเมื่อมีโอกาสมาเป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ.แล้ว จะทำสิ่งง่ายๆ ได้อย่างไร ต้องทำเรื่องยากให้เกิดขึ้น”Ž คำพูดประโยคนี้ สะท้อนหลักคิดของนายอนุทินได้ดี

นายอนุทิน เล่าย้อนไปถึงสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ.ว่า ในช่วงนั้น สปสช.เพิ่งเริ่มก่อตั้ง แม้จะใช้ชื่อโครงการว่า 30 บาท รักษาทุกโรค แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่ครอบคลุมทุกโรคได้จริง เช่น โรคไต ทำฟัน ฯลฯ ไม่ครอบคลุม

Advertisement

“ตอนนั้น ผมก็ยังคุยกับทีมงานว่า แล้วจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรคได้อย่างไร แต่ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีช่วย ทำอะไรมากไม่ได้ ก็ตั้งใจว่าต้องผลักดันให้รักษาทุกโรคให้ได้”Ž นายอนุทิน กล่าว

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี สปสช.ได้พัฒนาตัวเองมาตลอด คณะกรรมการหลายชุดได้ทำสิ่งที่ควรจะให้เกิด ก็คือรักษาทุกโรคได้ จนถึงปัจจุบัน 30 บาทรักษาทุกโรค สามารถอธิบายตัวเองได้แล้วว่า รักษาทุกโรคจริง ถ้าคนที่มีสิทธิบัตรทองป่วยขึ้นมา สปสช.จะไปดูแลให้ นี่คือการพัฒนาในแต่ละย่างก้าวของ สปสช.

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เมื่อมีโอกาสได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ.ในรัฐบาลนี้ ก็มีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบสุขภาพของไทยให้ก้าวไปอีกขั้น เพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคนให้ดีขึ้น ซึ่งโดยตำแหน่งแล้วต้องเป็นประธาน สปสช.ด้วย ตำแหน่งเหล่านี้ทับซ้อนกันอยู่ เพราะ 2 หน่วยงานนี้ คนหนึ่งเป็นผู้ให้เงิน คนหนึ่งเป็นผู้ให้บริการ ถ้ามองในแง่ดี ก็คือ นโยบาย สปสช. ที่เกิดขึ้น สามารถนำไปผลักดันที่ สธ. หรืออีกมุมหนึ่งก็สามารถรับความคิดเห็นจาก สธ.ว่า มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรแล้วนำมาผลักดันที่ สปสช.

“ช่วง 14-15 เดือน ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ ต้องบอกว่าการประชุมที่สนุก เร้าใจ แล้วท้าทายที่สุดคือ การประชุมบอร์ด สปสช. กรรมการ 33 คน แต่ละคนเรียกว่า ยอดฝีมือมาจากทั่วทุกสารทิศ บางทีผมก็เถียงกับเขาบ้าง บางทีก็โดนดุบ้าง โดนตำหนิบ้าง มีโกรธบ้าง แต่สิ่งที่ผมต้องให้ความร่วมมือตลอดเวลาคืออะไร ทั้ง 30 กว่าคนที่นั่งอยู่ในบอร์ด สปสช.อ่านเข้าไปในใจเขาได้เลยว่า เขาคิดถึงประชาชนทุกคน นี่คือสิ่งที่บางทีผมก็ยัวะนะ อยากจะเถียงสวนออกไป แต่ไม่กล้าครับ! เพราะว่าเขากำลังสะท้อนความต้องการของประชาชนมาให้บอร์ด สปสช.ได้ฟัง พอมีคำว่าประชาชน ภาคการเมืองอย่างผมที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ต้องยอม ไม่มีสิทธิโต้เถียง นี่คือความสวยงามของการทำงานร่วมกัน ที่ต่างคนต่างทำเพื่อประชาชน อันนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้ สปสช.เดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเอาประโยชน์ของประชาชนมาเป็นเป้าหมาย”Ž นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน ขยายความว่า หลักการง่ายๆ ของเรื่องนี้คือ ในเมื่อ 30 บาทรักษาทุกโรคแล้ว ทำไมไม่รักษาทุกที่ไปด้วย ทำไมคนไทยที่ไปทำงานต่างภูมิลำเนา เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ต้องมีการส่งตัว ต้องมีขั้นตอนมากมาย เหตุใดจึงไม่ใช้ฐานข้อมูลเพื่อให้ป่วยที่ไหนก็สามารถเข้ารักษาในพื้นที่นั้นได้

“เมื่อมีแนวคิดเช่นนี้ ก็ได้หารือความเป็นไปได้กับทาง สปสช. ซึ่ง สปสช.ก็ตั้งใจจะทำอยู่แล้ว แต่ขาดการผลักดัน สธ.ในบางส่วนยังไม่ตอบรับ ดังนั้น จึงนำเรื่องนี้มาหารือกับปลัด สธ. ตลอดจนปรึกษากับทีมงาน แน่นอนว่าคำตอบแรกคือ ไม่ได้ เพราะยังมีข้อกังวลว่า หากเป็นเช่นนั้นจะทำให้คนเข้าไปรักษาแต่โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลขนาดเล็กก็ไม่มีคนเข้า”Ž นายอนุทิน กล่าว

อย่างไรก็ดี ในมุมมองของนายอนุทินกลับมองว่า เรื่องนี้ไม่น่าเป็นกังวล เพราะ สธ.มีแพทย์พยาบาลมาก มีโรงพยาบาลแทบทุกอำเภอ ดังนั้น นอกจากการจัดระบบต่างๆ ของ สปสช. เพื่อรองรับนโยบายนี้แล้ว อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ฝั่ง สธ.ต้องยกระดับโรงพยาบาล ยกระดับการให้บริการประชาชนไปด้วย ต้องไม่มีคำว่าโรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลเล็ก มีแต่คำว่าโรงพยาบาลที่ดี โรงพยาบาลที่รักษาคนไข้ได้มากที่สุด ทุนหรืองบประมาณต่างๆ ก็ต้องสนับสนุนลงไปทำให้เกิดการยกระดับโรงพยาบาลขึ้นจริง

การยกระดับเช่นนี้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอจากรัฐบาล ซึ่งนายอนุทินยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความใส่ใจในเรื่องสุขภาพของประชาชนเต็มที่ ถ้าเป็นเรื่องของ สธ. ขอให้อธิบายให้ได้ถึงความจำเป็น ถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสวัสดิการของแพทย์ พยาบาล บรรจุข้าราชการ การเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล เพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ การซื้อยา การพัฒนาวัคซีน เรื่องสวัสดิการของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในแพคเกจที่รัฐบาลเต็มใจที่จะให้ ด้วยความเชื่อและมุ่งหวังที่ว่า เมื่อประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความเข้าใจระบบการสาธารณสุข มีความเข้าใจเรื่องการรักษาตัวเองแล้ว ประเทศไทยจะต้องมีความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ และความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ

“30 บาทรักษาทุกที่ จะเป็นภาค 2 ของ 30 บาทรักษาทุกโรค มีบริการที่ยกระดับ เจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ป่วยอาการหนัก สามารถใช้บริการของหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 โดยเริ่มในกรุงเทพมหานคร และตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2565 จะขยายครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศ แน่นอนว่าถ้าเจอเคสยุ่งยาก ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ แบบนั้นต้องใช้ระบบส่งต่อ ซึ่งปัจจุบันก็ทำอยู่แล้ว แต่เรื่องการรักษาทุกที่ ตอนนี้ก็คือโรคทั่วไป เบาหวาน ความดัน หัวใจ หวัด ไข้ แต่ที่ได้เพิ่มโรคยากๆ เข้าไปด้วยคือมะเร็ง”Ž นายอนุทิน กล่าว

นอกจากเปิดให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่แล้ว เรื่องมะเร็งเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ นายอนุทินผลักดันให้สามารถเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมที่ไหนก็ได้ เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็ง บางทีถ้าเกิดไม่รักษาทุกที่ เจอคิวในบางภาค ไม่ทันได้รักษาก็เสียชีวิตก่อน ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคนในประเทศไทยจะสามารถตรวจรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่มีความพร้อม ไม่ต้องรอคิวเหมือนที่ผ่านมา ไม่ต้องถูกจำกัดสิทธิให้ไปใช้บริการเฉพาะหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้

“สธ.ได้จัดหาเครื่องฉายรังสีมะเร็งอีก 7 เครื่อง ประจำการที่ศูนย์มะเร็งทั่วประเทศ ด้วยความหวังว่า จากนี้ไปผู้ป่วยที่ต้องรับการฉายรังสีด้วยโรคมะเร็งจะไม่ต้องเดินทางไกล ไปๆ มาๆ แล้วคิวก็จะน้อยลง เครื่องฉายรังสีราคา 100 กว่าล้านบาท ถ้าสำหรับดูแลคนไทยที่เจ็บป่วยโรคมะเร็ง ไม่เสียดายเงิน ครม.อนุมัติโดยไม่ถามสักคำ”Ž นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า Pain Point ของผู้รับบริการยังมีอีก 2 เรื่อง ซึ่งจะถูกยกระดับการบริการเช่นกัน นั่นคือ ผู้ป่วยในจะสามารถใช้บริการหน่วยบริการใด หรือโรงพยาบาลใดก็ได้ โดยไม่ต้องมีใบส่งตัว ซึ่งที่ผ่านมา ผู้รับบริการจะทราบดีว่าการขอใบส่งตัวต้องใช้เวลานานมาก จะเริ่มนำร่องในเขตสุขภาพที่ 9 (นครชัยบุรินทร์) ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และชัยภูมิ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 และตั้งเป้าภายในปี 2565 ทั้ง 12 เขตสุขภาพ จะใช้ระบบนี้ทั้งหมด

“อีกเรื่องคือ ประชาชนทุกคนจะสามารถใช้บริการได้ทันทีเมื่อแจ้งเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ไม่ต้องรอเวลาเกิดสิทธิ แจ้งปุ๊บ เดินไปรักษาได้เลย ไม่ต้องมีใครอนุมัติ ถือว่าอนุมัติด้วยการแจ้ง ซึ่งขณะนี้ สปสช.กำลังเร่งยกระดับฐานข้อมูลและพร้อมจะให้บริการได้ในวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไปŽ” นายอนุทิน ระบุ

การยกระดับ 4 บริการนี้ จะเป็นการพัฒนางานบริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ให้เป็นบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกดูแลรักษาบริการประชาชนให้เข้าถึงการบริการได้มากขึ้น ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น

ทั้งหมดนี้ นายอนุทินย้ำทิ้งท้ายว่า เรื่องอื่นประเทศไทยสู้เขาไม่ได้ แต่เรื่องการสาธารณสุข เรื่องของสุขภาพ ไทยเราต้องไม่เป็นรองใคร!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image