หมอแนะ 5 ข้อสำคัญ เช็กความพร้อมร่างกายก่อนร่วมกิจกรรมวิ่ง-ออกกำลังกาย

หมอแนะ 5 ข้อสำคัญ เช็กความพร้อมร่างกายก่อนร่วมกิจกรรมวิ่ง-ออกกำลังกาย

กรณี นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกิดอาการวูบและเสียชีวิตระหว่างที่เข้าร่วมกิจกรรมงานวิ่ง มินิฮาล์ฟมาราธอน ถิ่นวีรชน ครั้งที่ 4 จ.สิงห์บุรี เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และวันเดียวกัน ก็มีนักวิ่งชายอีก 2 ราย เสียชีวิตระหว่างร่วมกิจกรรมวิ่งที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ด้วยนั้น

วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2563) นพ.ไพจิตร์ วราชิต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงพื้นฐานการเตรียมความพร้อมก่อนออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ หรือภาวะแทรกซ้อนขณะวิ่ง ว่า ตนเป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบในการออกกำลังกายโดยเฉพาะการวิ่ง ดังนั้น จึงต้องมีการหาความรู้ในการเตรียมตัวเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามวิ่ง

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า หลักสำคัญมีทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่ 1.จะต้องทราบโปรแกรมการวิ่ง ระยะทาง ประเภทของการวิ่ง เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายอย่างน้อย 3 เดือนก่อนวิ่ง เช่น มินิมาราธอน 10 กิโลเมตร จะต้องมีความพร้อมเพื่อซักซ้อมวิ่งอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ด้วยการวิ่งวันเว้นวัน 2.ตรวจสอบสภาพร่างกายของตนเองก่อนทำการวิ่ง 1 วัน คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และงดการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดอาการวูบได้ง่าย 3.ประเมินความเสี่ยงจากโรคประจำตัว ซึ่งเชื่อว่าทุกคนสามารถวิ่งได้ แต่จะต้องควบคุมภาวะของโรคให้ดี เช่น โรคความดันโลหิตสูง จะต้องมีการกินยาเพื่อลดความดันก่อนวิ่ง พร้อมทั้งวิ่งในระยะทางที่เหมาะสมกับโรคประจำตัว

“4.ข้อสำคัญคือ เราจะต้องยืนยันกับตนเองว่าการไปวิ่งจะต้องทำเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่การไปแข่งขันกับผู้อื่น โดยจะต้องวิ่งให้เหมาะสมตามที่ร่างกายตัวเองสามารถทำได้ และ 5.กลุ่มผู้ที่มีอายุมากจะต้องวิเคราะห์ความพร้อมของตนเอง วิ่งระยะทางที่สอดคล้องกับเวลา เช่น ผู้อายุ 40-50 ปี วิ่ง 10 กิโลเมตร จากเดิมใช้เวลา 45-50 นาที ก็จะต้องวิ่งให้ช้าลง ใช้เวลามากขึ้นเป็น 1 ชั่วโมง 30 นาที ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ร่างกายเหนื่อยมากจนเกินไป” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

Advertisement

อดีตปลัด สธ. กล่าวว่า เชื่อว่าผู้มีโรคประจำตัวก็สามารถวิ่งได้ หากมีการเตรียมตัวที่ดี แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะโรคหัวใจ แนะนำให้เป็นการเดินเร็วแทนการวิ่ง และจะต้องรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคประจำตัวของตนเอง โดยอาการสำคัญที่เกิดขึ้น และเป็นสัญญาณที่จะต้องหยุดวิ่ง คือ รู้สึกเหนื่อยจนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เมื่อรู้ตัวแล้วจะต้องหยุดวิ่งและนั่งพัก ด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ นั่งพัก ปลดเสื้อผ้าให้ขยายออก ระบายอากาศให้เต็มที่ ข้อสำคัญคือ ไม่ต้องรีบดื่มน้ำ เนื่องจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่หายใจไม่ออกจากการออกกำลังกาย จะต้องเน้นการหายใจ และการให้สูดอากาศมากขึ้น

“ในช่วงนี้ ที่มีผู้คนไปรวมงานวิ่งกันจำนวนมาก และมีการสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ข้อแนะนำที่สำคัญคือ ตอนวิ่งนั้นจะต้องถอดหน้ากากออก โดยใช้วิธีการวิ่งแบบเว้นระยะห่างกับผู้อื่น ไม่หายใจรดคนอื่น และไม่ให้ผู้อื่นมาหายใจรดใส่ตัวเอง เพราะหากสวมหน้ากากอนามัยแล้วไปวิ่งจะทำให้ออกซิเจนไม่เพียงพอ แล้วก็จะเกิดอาการวูบได้ง่าย” นพ.ไพจิตร์ กล่าว

 

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image