กรมควบคุมโรคแจงประกาศห้ามขายเหล้า-เบียร์ออนไลน์ จ่อบังคับใช้ 7ธ.ค.63

แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรคแจงประกาศห้ามขายเหล้า-เบียร์ออนไลน์ จ่อบังคับใช้ 7 ธ.ค.63

วันนี้ (3 ธันวาคม 2563) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบหมายให้ นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับทราบและเข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยมี นายคมสัน โพธิ์คง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ในฐานะประธานคณะทำงานฯ ผศ.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศาสตร์ ในฐานะอนุกรรมการร่างกฎหมายฯ เป็นผู้ชี้แจงและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศฯ อีกทั้งยังมีเครือข่ายภาคประชาสังคมให้ความคิดเห็นต่อประกาศสำนักนายกฯ ฉบับนี้ร่วมด้วย

นพ.นิพนธ์กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุ และอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ประกาศฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ สร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงหวังว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับทราบและเข้าใจถึงเจตนารมณ์และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามประกาศ

นายคมสันกล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการและร้านค้าปรับใช้วิธีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ประกอบกับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ผ่านมา มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำได้โดยง่าย ซึ่งถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่เน้นควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ควบคุมบุคคลที่ซื้อ วัน เวลา สถานที่จำหน่าย ซึ่งการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เป็นตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะการเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของเด็กและเยาวชน จึงจำเป็นต้องออกประกาศสำนักนายกฯ ฉบับนี้เพื่อควบคุมการเข้าถึงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Advertisement

ผศ.บุญอยู่กล่าวว่า การออกประกาศดังกล่าว เพื่อกำหนดเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ลดผลกระทบจากโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนน ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ปัญหาการทะเลาะวิวาท อาชญากรรม สุขภาพ ครอบครัว ความพิการ และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งประกาศดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ธันวาคมนี้

ด้านนายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ประกาศฯดังกล่าวถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อย่างน้อยสามารถช่วยควบคุมการเข้าถึงของประชาชนรวมถึงเด็กและเยาวชนได้ในระดับหนึ่ง และมาตรการดังกล่าวไม่ถือเป็นการกีดกันอี-คอมเมิร์ช (E-Commerce) และไม่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ต้องควบคุมมากกว่าสินค้าธรรมดา อีกทั้งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งกับตนเอง ครอบครัวและสังคม รวมถึงการก่ออาชญากรรมหรือแม้แต่กรณีเมาแล้วขับตามที่เห็นข่าวบนหน้าสื่อแทบทุกวันลดลงได้

Advertisement

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า ภาคธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีวิวัฒนาการและการสื่อสารการตลาดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการสื่อสารทางโลกอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น เนื่องจากทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงง่ายรวมถึงช่วยลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สังคมออนไลน์มีผลต่อการเข้าถึงและรับรู้ของประชาชนได้ง่ายและรวดเร็วมากกว่าการใช้สื่อแบบเดิมๆ ประกอบกับการขายทางออนไลน์สามารถซื้อได้ทุกคน ทุกวัน ทุกที่ และทุกเวลา ซึ่งไม่มีมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนที่ชัดเจน จึงทำให้สถิติในการร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ผ่านสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น การมีมาตรการการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สามารถช่วยควบคุมการเข้าถึงของเด็กและเยาวชนผ่านสื่อออนไลน์ได้เป็นอย่างดี และเป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลก รับรองว่ามีประสิทธิผลสูงในการลดการบริโภคเพราะทำให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยากขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image