อนุทิน ลั่น 1 มกราฯ มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ดันน้ำมันกัญชาเข้าบัญชียาหลัก

อนุทิน ลั่น 1 มกราฯ มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ดันน้ำมันกัญชา เข้าบัญชียาหลักรักษาผู้ป่วย

วันนี้ (9 ธันวาคม 2563) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือและมอบนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ระหว่าง สธ. กรมการแพทย์ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการร่วมพัฒนาระบบบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็ง โดยมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น และลดภาวะล้มละลายของครัวเรือนจากค่ารักษาพยาบาลที่เห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยบริการ “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหน ก็ได้ที่พร้อม” เริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็น 1 ใน 4 บริการใหม่ตามนโยบาย “ยกระดับบัตรทอง สู่ระบบหลักประกันสุขภาพยุคใหม่” ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในก้าวย่างที่สำคัญของระบบบัตรทอง จากความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สธ. โดย กรมการแพทย์ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และ สปสช. ได้นำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้

Advertisement

“จุดเริ่มต้นของนโยบายนี้ เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นภาวะเจ็บป่วยที่ซับซ้อนและต้องรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ลุกลาม โดยโรคมะเร็งบางชนิดรักษาให้หายขาดได้ถ้าได้รับบริการทันท่วงที แต่ที่ผ่านมา ด้วยขั้นตอนการส่งตัวบางครั้งอาจทำให้การเข้าถึงการรักษาล่าช้าและเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ปัญหาจนนำมาสู่นโยบายนี้ ไม่เพียงแต่เพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับผู้ป่วยมะเร็ง ลดระยะเวลาการรอคอย แต่ยังทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มขึ้น ได้รับการรักษาต่อเนื่องโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว” นายอนุทิน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า ความท้าทายนับตั้งแต่การเริ่มต้นโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ในการเพิ่มสิทธิรักษาประชาชนเพื่อประโยชน์ในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ การดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงครอบคลุมค่าใช้จ่ายและยาราคาแพง วันนี้นับเป็นอีกครั้งหนึ่งในความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคการเข้ารับบริการให้กับประชาชนโดยเฉพาะโรคมะเร็ง ที่อยู่ในกลุ่มโรคร้ายแรง คร่าชีวิตผู้ป่วยจำนวนมาก มีความจำเป็นต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นโรคที่ยากต่อการรักษาให้หายขาด มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากจนถึงทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินได้ จึงนำมาสู่นโยบายการพัฒนายกระดับบริการประชาชน

Advertisement

“คำว่ามีความพร้อม หมายความว่า หากท่านป่วยเป็นโรคมะเร็ง จะต้องไปหาโรงพยาบาลเฉพาะทางที่รักษาได้ สามารถรักษาผู้ป่วยข้ามเขตได้ มีการส่งประวัติผู้ป่วยอิเล็กทรอนิกส์แทนใบส่งตัว ใช้เทคนิคในการจัดลำดับคิว สถานะว่างของหน่วยบริการต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ป่วยสามารถไปรับบริการได้โดยตรงในสถานที่ที่มีความพร้อมและไม่ต้องเสียเวลาในการรอคอย ทั้งนี้การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งไม่ได้มีเพียงการฉายรังสี ดังนั้น สธ. จะส่งเสริมให้มีการนำน้ำมันกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาที่เป็นประโยชน์ มาใช้ในการบรรเทาอาการในผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ที่ต้องได้รับการดูแลในระยะประคับประคอง ในระยะถัดไป จะบรรจุสารสกัดที่ได้จากน้ำมันกัญชาให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตนและนายสาธิตเดินไปไหนก็ยิ้มแฉ่ง เนื่องจากมีความภาคภูมิใจที่ได้ผลักดันและขอให้ทางรัฐบาลได้อนุมัติเครื่องฉายรังสีมะเร็งอีก 7 เครื่อง เพื่อมาให้ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ตอนที่ผมไปขออนุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ท่านก็รีบจัดการให้ทันที จะเห็นได้ว่าเรื่องแบบนี้มีผลต่อการตัดสินใจของทุกคน เพราะ เราเชื่อว่าทุกคนจะต้องผ่านประสบการณ์หรือคนใกล้ชิดป่วยโรคมะเร็ง มีการเสียชีวิตใดบ้าง หรือ รักษาหายบ้าง ที่สำคัญคือ เรื่องนี้บั่นทอนทั้งสุขภาพ ชีวิต เศรษฐกิจ และจิตใจของทั้งผู้ป่วย ญาติพี่น้อง ครอบครัวของผู้ป่วย เป็นสิ่งที่ทำให้เราเห็นความสำคัญ ต้องขอขอบคุณกรมการแพทย์ที่ได้ประสานงานไปยังหน่วยบริการต่างๆ ในเครือข่ายโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องด้วย และต้องขอบคุณ สปสช.ที่สนองนโยบายอย่างเต็มที่ จัดสรรงบประมาณโดยทันที เพื่อมาให้การดูแลประชาชน ซึ่งเชื่อมั่นว่าภายหลังปีใหม่นี้เป็นต้นไป การบริการให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยจะมีความพร้อม มีมาตรฐาน และมีความสะดวกให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น” นายอนุทิน กล่าว

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า ต้องให้นโยบายปลัด สธ. ต่อไปว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2564 สถานบริการทุกที่ต้องมีความพร้อม โดยไม่มีข้อยกเว้น ทำให้ได้ ทำโครงการแบบนี้มาล้มเหลวไม่ได้ สะดุดไม่ได้

“จริงๆ ต้องเริ่มตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ไม่ใช่เริ่มวันที่ 1 มกราคม ผมให้ความมั่นใจและเชื่อว่า นโยบายต่างๆ จะได้รับการตอบสนองเพื่อประโยชน์ของประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 122,757 ราย และเสียชีวิตปีละ 80,665 ราย จากนโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม สธ. ได้จัดเตรียมระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งในเขตสุขภาพทั้ง 13 เขต โดยปรับระบบบริการให้สอดคล้องกับบริบท ศักยภาพ และทรัพยากรที่มีในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าวได้ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง สามารถเลือกไปรับการรักษาในหน่วยบริการใกล้บ้านที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการให้บริการโรคมะเร็ง โดยสามารถรักษาความเขตสุขภาพได้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกของผู้ป่วยอย่างแท้จริง แพทย์ผู้วินิจฉัยจะส่งข้อมูลผู้ป่วยมายังศูนย์ประสานการส่งต่อโรคมะเร็ง เพื่อจัดหาโรงพยาบาล (รพ.) ที่มีศักยภาพรักษามะเร็ง และไม่แออัดให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีคุณภาพมาตรฐาน ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอยในการรับบริการรักษา และได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวเหมือนในอดีต

“กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้พัฒนาโปรแกรม Thai Cancer-based เป็นเครื่องมือช่วยส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์ม The ONE ช่วยสืบค้นข้อมูลและประเมินศักยภาพการให้บริการของ รพ. ที่เข้าร่วมโครงการ โดย รพ.ต่างๆ ทั่วประเทศสามารถจองคิวการตรวจทางรังสีวินิจฉัย จองคิวการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัดผ่านแพลตฟอร์มนี้ได้โดยตรง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาโปรแกรม DMS Bed Monitoring เพื่อใช้บริหารจัดการเตียง รวมทั้งพัฒนาแอพพลิเคชั่น DMS Telemedicine ที่ใช้นัดคิวเพื่อขอรับคำปรึกษาทางไกลจากแพทย์ (Tele-Consult) ในการนัดรับยา โดยผู้ป่วยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน่วยบริการรักษาโรคมะเร็งในระบบกระจายทั่วทุกเขต เป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านรังสีรักษา 36 แห่ง และหน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไปด้านเคมีบำบัด 164 แห่ง เพื่อให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยในปีงบประมาณ 2563 หลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนการจัดบริการยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home chemotherapy) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่ให้บริการยาเคมีบำบัดที่บ้าน 7 แห่ง คือ รพ.รามาธิบดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.ราชวิถี รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.จุฬาภรณ์ รพ.มะเร็งชลบุรี และ รพ.มะเร็งลพบุรี นอกจากนี้ สปสช. ได้เตรียมระบบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว

“นโยบายโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สธ. โดย กรมการแพทย์ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และ สปสช. โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนจะเป็นกลไกสำคัญในสื่อสารข้อมูล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข และช่วยขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ก้าวหน้าต่อไป” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

ทั้งนี้ น.ส.ศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งไทย (Thai Cancer Society) กล่าวว่า การจัดระบบบริการโรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบบัตรทอง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ในฐานะเครือข่ายผู้ป่วยต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้มีนโยบายออกมาช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง สอดคล้องกับนโยบายเดิมที่ว่าใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งผลักดันให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในเขตพื้นที่บริการใกล้บ้าน โดยมีญาติคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image