สธ.ถกเครือข่ายทบทวนแนวปฏิบัติในสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก หลังบุคลากรแพทย์ติดโควิด-19

สธ.ถกเครือข่ายทบทวนแนวปฏิบัติในสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก หลังบุคลากรแพทย์ติดโควิด-19

วันนี้ (10 ธันวาคม 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมโรค สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล โรงพยาบาลเอกชนคู่ปฏิบัติการของสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine: ASQ) และสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine: AHQ) ร่วมประชุมเข้มมาตรการแนวปฏิบัติในสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 230 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ระบบ Cisco WebEx

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. กล่าวชี้แจงมาตรการการดำเนินงานสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก ว่า ตามที่ สธ.ได้ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคนต้องได้รับการตรวจคัดกรอง แยกกัก หรือกักกัน เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งมาจากท้องถิ่นอื่นหรือเมืองท่านอกราชอาณาจักร กรณีโรคโควิด-19 ในสถานที่ที่หน่วยงานรัฐจัดเตรียมและจัดหาสถานที่สำหรับเป็นที่กักตัว ได้แก่ สถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก

“แต่จากการรายงานกรณีที่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก จึงจำเป็นต้องทบทวนมาตรการการปฏิบัติงานให้มีมาตรฐาน ตามหลักเกณฑ์และแนวทางการควบคุมป้องกันโรคตามที่ สธ.กำหนด ซึ่งมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคในสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก มีทั้งหมด 6 ด้าน ดังนี้ 1.โครงสร้างอาคารและวิศวกรรม 2.บุคลากร 3.วัสดุ อุปกรณ์สำนักงานและอื่นๆ 4.เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล 5.การจัดการสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับชุมชน 6.โรงพยาบาลคู่สัญญาปฏิบัติการร่วมและความสะดวกสบายเพิ่มเติม และจำนวนสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือกมีทั้งหมด 120 แห่ง จำนวน 15,253 ห้อง โดยเน้นย้ำให้โรงพยาบาลคู่สัญญา 17 แห่ง และโรงแรมที่เข้าร่วม 120 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรฐาน 6 ด้าน โดยเคร่งครัด” นพ.ธเรศ กล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.อเนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กล่าวว่า เสนอผลการสอบสวนโรคและเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาในประเด็นต่างๆ ให้กับโรงพยาบาลเอกชนคู่ปฏิบัติการ ASQ ดังนี้ 1.จัดเตรียมอุปกรณ์ควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ (IPC) และอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ให้เพียงพอ 2.บุคลากรทางการแพทย์ ตระหนักและปฏิบัติตามแนวทางการประเมิน คัดแยก และรักษาผู้ป่วย ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติการควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 3.กำหนดหัวหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานพยาบาล ASQ ต้องเข้มงวดในการควบคุมกำกับการปฏิบัติงาน 4.บุคลากรทางการแพทย์ ต้องเข้มงวดเรื่องการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายก่อนเข้าไปตรวจเยี่ยมหรือทำหัตถการแก่ผู้เข้าพักกักตัวในห้องพัก 5.พยาบาลไม่ควรเข้าไปวัดอุณหภูมิหรือสัมผัสโดยตรง โดยไม่มีการป้องกัน

นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวว่า ได้เสนอให้โรงพยาบาลเอกชน คู่ปฏิบัติการ ASQ ควรปฏิบัติ1.ทบทวนกระบวนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และให้บริการผู้ป่วยโดยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสัมผัสกับผู้ป่วยน้อยที่สุด แล้วใช้การสื่อสารทางไกลให้เป็นประโยชน์ 2.สอบทานการใส่และถอดอุปกรณ์ป้องกันตน (PPE) ของเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและหน่วยบริการควรให้มีจุดล้างมือและห้องอาบน้ำ ณ จุดถอด PPE ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image