สธ.ยัน 7จว.ปลอดภัยโควิด-19 เที่ยวได้เหมือนพื้นที่อื่น

สธ.ยัน 7จว.ปลอดภัยโควิด-19 เที่ยวได้เหมือนพื้นที่อื่น

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สำหรับกรณีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ถึงวันนี้มีผู้ติดโควิด-19 จำนวน 49 ราย ในจำนวนนี้ 30 ราย เข้าอยู่ในสถานที่กักกันของพื้นที่ (Local State Quarantine: LQ) อีก 17 ราย เป็นผู้ลักลอบเข้าผ่านช่องทางธรรมชาติ และเดินทางไปใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร พะเยา พิจิตร ราชบุรี และสิงห์บุรี และผู้ติดโควิด-19 ต่อจากผู้ลักลอบเข้า 2 ราย

“อีกทั้ง จังหวัดที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดโควิด-19 ที่ลักลอบเข้าเมืองนั้น มีการดำเนินการมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น อาทิ จ.เชียงราย มีการตรวจหาเชื้อคนในพื้นที่ไปแล้วกว่า 6,000 ราย ส่วนใหญ่ไม่พบการติดเชื้อ โดยพบติดเชื้อโควิด-19 เพียง 2 ราย ซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่ลักลอบเข้าประเทศเท่านั้น ยังไม่มีผู้ป่วยรายใดหลุดจากระบบสอบสวนควบคุมโรค จึงไม่พบการระบาดใน จ.เชียงราย สามารถไปเที่ยวได้ ส่วน จ.พิจิตร ตรวจแล้วกว่า 900 ราย และ จ.สิงห์บุรี ตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 35 ราย ไม่พบติดเชื้อแต่อย่างใด เป็นต้น” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ภาพรวมใน 7 จังหวัด ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชื่อมโยงกับการลักลอบเข้าเมืองจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือ พบการติดเชื้อในกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมือง และติดไปยังคนอื่นต่ออีก 2 ราย เท่านั้น ไม่มีการแพร่กระจายต่อไปในวงอื่นเพิ่มขึ้น สถานการณ์จึงคุมได้

“ทุกจังหวัดจึงมีความปลอดภัยเท่ากับจังหวัดอื่นๆ ขณะนี้ไม่สถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยง เดินทางไปจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เมื่อกลับมาไม่ต้องกักตัว แต่ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน เมื่อไปในสถานที่สาธารณะขอให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ล้างมือบ่อยๆ และ สแกนไทยชนะ รวมถึงหากพบเห็นบุคคลในชุมชนที่กลับจากต่างประเทศ และไม่ได้เข้ารับการกักตัว 14 วัน ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พบการติดเชื้อ จำนวน 108 คน แต่เมื่อรู้จักโรคนี้ดีขึ้น ทำให้ช่วงหลังจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ไม่พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้ออีกเลย กระทั่งมี 1 ราย ที่ติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ในสถานกักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (ASQ) และนำไปติดเพื่อนที่เป็นบุคลากรด้วยกัน ซึ่งไม่ได้ติดจากการทำงาน เป็นการติดจากการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน จึงต้องเคร่งครัดมาตรการใส่เครื่องป้องกัน ซักซ้อมการถอดใส่อุปกรณ์ตามมาตรฐานมากขึ้น ยังไม่ถึงขั้นต้องให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลโดยไม่ออกมาภายนอก และขณะนี้ควรให้กำลังใจในการทำงาน

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้มีเพียง 6 ราย โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในโรงพยาบาลเอกชน 31 ราย ตรวจหาเชื้อครั้งแรกวันที่ 5 ธันวาคม ผลเป็นลบ ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ผลเป็นลบ 30 ราย ติดเชื้อ 1 ราย คือผู้ป่วยรายที่ 6 โดยจะมีการตรวจเชื้อครั้งที่ 3 ต่อไป ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในหอพัก ห้องสัมภาษณ์งานโรงพยาบาลรัฐ และสมาชิกครอบครัว ให้ผลเป็นลบทั้งหมด ได้เก็บตัวอย่างแล้ว คาดว่าผลจะออกในวันที่ 12-13 ธันวาคม ขณะที่ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 888 รายผลเป็นลบ ส่วนกรณีผู้ป่วยรายแรกที่มีการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT และ BTS ช่วงเวลาสั้นๆ 10-15 นาที มีการสวมหน้ากากตลอดเวลา และไม่มีการพูดคุย ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น การใส่หน้ากากขณะโดยสารรถขนส่งสาธารณะต่างๆ จะช่วยป้องกันตัวเองและลดความเสี่ยงลงได้

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image