อย.ปลดล็อกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ออกจากยาเสพติด ย้ำยังต้องขออนุญาตปลูกร่วมหน่วยงานรัฐเท่านั้น

อย.ปลดล็อกส่วนของพืชกัญชา-กัญชง ออกจากยาเสพติด ย้ำยังต้องขออนุญาตปลูกร่วมหน่วยงานรัฐเท่านั้น

วันที่ 15 ธันวาคม ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการฯ แถลงข่าวภายหลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ลงราชกิจจานุเบกษาแล้วและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมเป็นต้นไป

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงมติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ในการจัดทำ(ร่าง)ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อปลดล็อคส่วนของกัญชาและกัญชง ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติดนั้น ขณะนี้ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งสาระสำคัญของประกาศคือ เป็นการระบุว่าสิ่งใดจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และสิ่งใดที่ยกเว้น ซึ่งกัญชาและกัญชงยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพียงแต่ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ได้จากการปลูกหรือผลิตในประเทศไทย ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และเส้นใย สารสกัดที่มีสารซีบีดี(CBD)เป็นส่วนประกอบและกากที่เหลือจากการสกัดซึ่งจะต้องมีสารทีเอชซี(THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2, เมล็ดกัญชง น้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอื่นๆได้ ประชาชนสามารถใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชากัญชงทั้งนำไปประกอบอาหาร ทำยารักษาโรค ส่วนการนำเข้ากัญชากัญชง สามารถทำได้โดยขออนุญาตเป็นยาเสพติด ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้งและเส้นใยแห้ง ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่เป็นสารเสพติดให้โทษในประกาศฯ นี้

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้แก่ กัญชา กัญชง พืชกระท่อม พืชฝิ่น และเห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ในส่วนนี้ยังเป็นยาเสพติดทั้งหมดเพียงแต่ว่า กัญชาและกัญชง มีบางส่วนไม่เป็นยาเสพติดแล้วตามประกาศดังกล่าว แต่ยังมี 2 อย่างที่ยังเป็นยาเสพติดอยู่ คือ เมล็ดกัญชาและช่อดอกกัญชา อย่างไรก็ตามผู้ที่จะปลูกจะต้องได้รับการอนุญาตจากทาง อย. โดยจะต้องมีการทำแผนชี้แจงรายละเอียดว่าจะนำส่วนประกอบเหล่านี้ไปทำอะไรบ้าง และประชาชนที่จะนำส่วนต่างๆ ของกัญชากัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปใช้จะต้องรับมาจากแหล่งที่ได้รับอนุญาตปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ https://www.fda.moph.go.th หรือโทร 1556 กด 3 ซึ่ง หากมีผู้ที่ครอบครองส่วนประกอบของกัญชากัญชงที่ไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้ ก็ถือว่าผิดกฎหมายที่เป็นการครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่

“เหตุที่ไม่สามารถปลดทุกส่วนของกัญชาและกัญชง คือ ช่อดอกและเมล็ดกัญชง ออกจากสารเสพติดได้ เนื่องจากตามอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ทางยูเอ็น(UN) ยังควบคุมให้เป็นยาเสพติดให้โทษอยู่ แต่สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้มากขึ้น ดังนั้น ตอนที่เราปลูกพืชกัญชากัญชงก็ยังคงเป็นยาเสพติดอยู่ ผู้ที่จะปลูกจะต้องร่วมกับหน่วยงานของรัฐและจะต้องอนุญาตจาก อย. ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด” นพ.ไพศาล กล่าว

Advertisement

นพ.ไพศาล กล่าวว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ระบุว่า ผู้ที่จะสามารถขออนุญาตปลูกพืชกัญชาได้ยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยสามารถให้สถาบันอุดมศึกษา วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม แพทย์แผนไทยหรือแผนพื้นบ้านร่วมขออนุญาตปลูกได้ แต่ในส่วนของพืชกัญชงนั้น อย.จะออกเป็นประกาศของกระทรวงสาธารณสุขในคราวต่อไป ซึ่งในประกาศจะปลดล็อคให้ประชาชนสามารถปลูกพืชกัญชงได้เอง โดยไม่ต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐ คาดว่าประกาศพืชกัญชงจะออกมาอย่างเร็วที่สุดคือในสัปดาห์หน้า

ด้าน ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า ชิ้นส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษตามประกาศฯ ดังกล่าว จะเสมือนเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่ง ที่ใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ดังนั้นจะต้องมีการขออนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งกองผลิตภัณฑ์จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ เช่น ปริมาณ ลักษณะของผลิตภัณฑ์ และที่มีการอนุญาตไปแล้วคือ การผลิตเครื่องสําอางจากสารสกัดเมล็ดกัญชง โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเครื่องสำอางแล้ว และรอออกเป็นประกาศของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ในส่วนของสมุนไพรเองก็กำลังจะออกประกาศ เรื่องการอนุญาตให้ใช้สารสกัดซีบีดี ที่มีทีเอชซีน้อยกว่า 0.2 มาใช้ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้

“ในปัจจุบันสามารถนำช่อดอกไปทำยาแผนไทย ซึ่งจะต้องขออนุญาตในเรื่องของการเป็นยาเสพติดให้โทษอยู่แต่เป็นตำรับยาแผนไทย ยาแผนปัจจุบันบางตำรับก็ใช้ส่วนของช่อดอกไปสกัดและมีค่าสารทีเอชซีสูง ก็ยังเป็นยาเสพติดให้โทษอยู่ ส่วนของใบที่ไม่ได้ติดกับช่อดอก หรือเราเรียกว่า ใบพัด เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างเช่นทำเป็นชาชงดื่ม หรือนำไปสครับผิว ทำสบู่หรือแชมพู ซึ่งกฎหมายของผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราก็จะเปิดมาเพื่อรองรับการนำชิ้นส่วนต่างๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” ภญ.สุภัทรา กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image