เลขาสผ.แจง เหตุ ชะลอขึ้นทะเบียนมรดกโลกแก่งกระจานไม่ได้

เลขาธิการ สผ ยืนยันว่า ประเทศไทยมีการดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนกระเหรี่ยงในพื้นที่เป็นอย่างดี

กรณีที่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ได้ยื่นหนังสือขอให้ชะลอการขึ้นทะเบียนมรดกโลก กลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยได้ยื่นข้อคัดค้าน ใน 3 ประเด็นนั้น

วันที่ 17 ธันวาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า จากข้อร้องเรียนดังกล่าวนั้น ยืนยันว่าที่ผ่านมา ทส. ในส่วนของคณะทำงานเรื่องการผลักดันให้พื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ทำงานกันอย่างหนักและมีความรอบคอบทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ทำให้พื้นที่ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกิน ซึ่งมีการพิจารณารายละเอียดกันหลายหน่วยงานมาก ล่าสุดนั้นทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ได้เชิญเอกอัคราชทูต และเจ้าหน้าที่ทูตของประเทศต่างๆที่อยู่ในประเทศไทย 7-8 ประเทศ ลงพื้นที่ ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เห็นถึงการทำงาน และความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งพบว่า ทุกประเทศต่างก็มีความพอใจ การทำงานที่ได้ไปพบเห็นมา

วราวุธ ศิลปอาชา

Advertisement

 

 

Advertisement

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึง. ประเด็นที่ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวน 23 คน ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก ผ่านสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกโลก (UNESCO) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ในการเสวนา “โค้งสุดท้ายกลุ่มป่าแก่งกระจานสู่มรดกโลก” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาของชุมชน ก่อนเดินหน้ายื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่ามรดกโลก นั้น. ข้อเรียกร้องในประเด็นต่างๆคือ

รวีวรรณ ภูริเดช

ประเด็นที่ 1 การขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเสร็จสิ้นก่อน เพราะปัจจุบันการแก้ไขปัญหายังแทบไม่มีความคืบหน้าใด ๆ นั้น ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย ได้รับการจัดสรรที่ดินครอบครัวละ 7 ไร่ 3 งาน (1,250 ตารางเมตร) จำนวน 57 แปลง รวมทั้งหมด 413.25 ไร่ ต่อมาได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 (ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 2541 – วันที่ 17 มิถุนายน 2557) โดยรวมทั้ง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านโป่งลึก – บางกลอย มีผู้ถือครองที่ดิน จำนวน 260 ราย 337 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 1,890 ไร่ ในส่วนของราษฎรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน ทส. อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ปัญหาพื้นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ประเทศไทยตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ปัจจุบัน มีราษฎรจากบ้านบางกลอย 30 ราย และบ้านโป่งลึก 37 ราย มาทำการแจ้งการครอบครองที่ดินแล้ว

 

ประเด็นที่ 2 ชาวบ้านบางกลอย ขอกลับไปทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย โดยชาวบ้านบางกลอยสามารถทำไร่หมุนเวียนได้ภายในขอบเขตที่ดินของตนเองที่ผ่านการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

และประเด็นที่ 3 ชาวบ้านบางกลอยบางส่วน ต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงมหาดไทยเพื่อกลับไปใช้ชีวิตดังเดิมนั้น ปัจจุบัน อส. ไม่สามารถอนุญาตให้ชาวบ้านบางกลอยกลับไปทำกินในพื้นที่บริเวณบ้านใจแผ่นดิน – บางกลอยบน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้ชายแดนไทย – เมียนมา อาจส่งกระทบทางด้านความมั่นคงของประเทศ และยากต่อการควบคุมการข้ามฝั่งไปมาของกลุ่มชาติพันธุ์

ทั้งนี้เลขาธิการ สผ ยืนยันว่า ประเทศไทยมีการดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนกระเหรี่ยงในพื้นที่เป็นอย่างดี การขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะเป็นผลดี ทำให้มีการยกระดับการดูแลพื้นที่ที่เป็นมาตรฐานสากลและไม่กระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนกระเหรี่ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image