คพ. ขอร่วมกันงดเผาตอซัง ไร่อ้อย แก้ฝุ่น PM2.5 ภาคอีสาน

คพ. ขอร่วมกันงดเผาตอซัง ไร่อ้อย แก้ฝุ่น PM2.5 ภาคอีสาน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่และกระทบต่อสุขภาพประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีทส. ได้ให้นโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

อรรถพล เจริญชันษา

นายอรรถพล กล่าวว่า ขณะนี้นอกจากปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นใน กทม.แล้ว กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสานในหลายจังหวัด ซึ่งปัญหาเกิดมาจาก 2 สาเหตุหลักด้วยกันคือ 1) จากยานพาหนะโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล และ 2) การเผาพืชตอซังข้าวและไร่อ้อย ซึ่งภาคอีสานมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศและมักประสบปัญหา PM2.5 ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายนที่เป็นช่วงเก็บเกี่ยวอ้อย คพ.โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 (สสภ.10/ขอนแก่น) ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เน้นที่แหล่งกำเนิดที่สำคัญ คือยานพาหนะและการเผาในที่โล่ง

Advertisement

นายอรรถพล กล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากยานพาหนะ สำนักขนส่งจังหวัดขอนแก่นมีการตรวจวัดและควบคุมกำกับรถโดยสารประจำทาง รถบรรทุก รถราชการ รวมทั้งให้สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.)ในจังหวัดขอนแก่นตรวจสภาพรถยนต์ฟรีทุกแห่ง และมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดการเผาในที่โล่ง ได้ดำเนินลดพื้นที่การเผาตอซังข้าวก่อนฤดูทำนาปรัง โดยนำร่องที่ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ดำเนินการ ประมาณ 10,000 ไร่ โดยขอความร่วมมือเกษตรกร ภาคเอกชน นำนวัตกรรม รถตัดตอซังข้าวและอัดก้อนฟาง ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสมและทำได้จริงในพื้นที่ และส่งขายโรงงานผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ ราคาตันละ 800 บาท และจะมีการขยายผลต่อไป

 

Advertisement

 

“สำหรับการลดการระบายมลพิษจากกลุ่มโรงงานน้ำตาลและพื้นที่ปลูกอ้อย คพ.ได้ติดตามและให้คำแนะนำรวมทั้งเตรียมความพร้อมกับโรงงานน้ำตาล โดยกลุ่มโรงงานน้ำตาลรวมเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด (มิตรภูเวียง) มีแนวทาง 1) ควบคุมการระบายอากาศจากปล่องระบายและกองเก็บชานอ้อย 2) มีเป้าหมายอ้อยสดเข้าโรงงานร้อยละ 80 3) สนับสนุนให้ใช้รถตัดอ้อยของโรงงาน 51 คัน 4) ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดเก็บใบอ้อยแทนการเผาและรับซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 1,000 บาท และกลุ่มโรงงานน้ำตาลขอนแก่น มีแนวทาง ได้แก่ 1)การควบคุมการระบายอากาศจากปล่องระบายและกองเก็บชานอ้อย 2) มีเป้าหมายอ้อยสดเข้าโรงงานร้อยละ 60 3) การสนับสนุนให้ใช้รถตัดอ้อยและรถสางใบอ้อยของโรงงาน 4) ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดเก็บใบอ้อยแทนการเผาและรับซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 1,000 บาท และเพิ่มเงินรางวัลสำหรับอ้อยสดแก่เกษตรกรอีกตันละ 50 บาท ทั้งนี้ จะขยายผลไปสู่พื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ร่วมกันงดเผา เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ให้ได้มากที่สุด” นายอรรถพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image