สธ.ย้ำไม่พาต่างด้าวเข้าปท. เล็งแฟคทอรี ควอรันทีน พบโควิด-19 ที่ไหนให้กักตัวในโรงงานนั้น 

สธ.ย้ำหนักไม่พาต่างด้าวเข้าปท. เล็งแฟคทอรี ควอรันทีน พบโควิด-19 ที่ไหนให้กักตัวในโรงงานนั้น 

วันนี้ (5 มกราคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ ) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า กรณีการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ ขอย้ำว่าหากเป็นการเดินทางเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมายและเข้าสถานกักกันโรคครบ 14 วัน ไม่ว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ไหนก็จะถูกตรวจจับได้หมด ขอย้ำว่าอย่าตกใจ สายพันธุ์อังกฤษ แม้ว่าจะแพร่กระจายเร็วขึ้นแต่ความรุนแรงของโรคไม่ได้มากขึ้น และไม่มีผลต่อวัคซีนที่พัฒนาในปัจจุบัน หากผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้ศึกษาข้อมูลให้ดีและเมื่อกลับมาจะต้องกักตัว 14 วัน เช่นเดิม

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 527 ราย ติดเชื้อในประเทศ 82 ราย ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติจากการคัดกรองเชิงรุก 439 ราย โดยขณะนี้มีการเร่งตรวจสอบในจุดเสี่ยงที่มีแรงงานหนาแน่น เราจึงพบผู้ป่วยจำนวนมากแต่จะทำให้เราควบคุมสถานการณ์ได้เร็วขึ้น

“ที่หลายคนตั้งขอสังเกตว่ารายงานจาก สธ. และ ศบค.ไม่ตรงกับในพื้นที่ มาจากการทำงานเป็นรอบๆ รายงานจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) เป็นช่วงเวลา แต่เป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวลมากนัก เนื่องจากเราจะมีการตัดข้อมูลเวลาเที่ยงคืน เมื่อมีรายงานข้อมูลหลังจากนั้นก็จะเก็บไว้รายงานในวันถัดไป แต่เนื่องจากบางจังหวัดมีกระบวนการทำงานต่อเนื่องก็อาจจะนำข้อมูลตรงนี้ออกมารายงาน ซึ่งจะเหลื่อมกันไม่มากและจะตรงกันในภายหลัง การออกตัวเลขมาก่อนเพื่อให้ประชาชนติดตามได้เร็ว สิ่งที่ต้องกังวลคือเราควบคุมได้หรือไม่มากกว่าการไปกังวลว่าตัวเลขไม่ตรงกัน” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยกระจายใน 56 จังหวัด โดยที่เพิ่มขึ้นใหม่ คือ น่าน และ สิงห์บุรี โดยมีบางจังหวัดมีผู้ป่วยมากขึ้น เช่น สิงห์บุรี อ่างทอง มีความสัมพันธ์กับบ่อนไก่ จึงขอย้ำว่าสถานที่อากาศไม่ถ่ายเท มีความแออัด ไม่สวมหน้ากากอนามัย การตะโกนเสียงดัง เมื่อป่วยแล้วไม่บอกข้อมูลกับแพทย์จึงเกิดความเสี่ยง ขอให้เลิกพฤติกรรมเหล่านี้กลับตัวกลับใจเพื่อช่วยประเทศ โดยหากไม่ได้รับความร่วมมือ เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการดำเนินการทางกฎหมาย

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าวันนี้ มีสื่อมวลชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายใน กทม. รวมกว่า 10 ราย ทั้งนี้ในจำนวนนั้นมีผู้ติดเชื้อ 7 ราย คำถามคือ เขาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ได้อย่างไร ซึ่งการลักลอบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ หากไม่มียานพาหนะ หรือบ้านพัก คนกลุ่มนั้นก็เข้ามาไม่ได้ จึงขอย้ำอีกครั้งว่า ประชาชนคนไทยที่เป็นเจ้าของบ้านเช่า โรงแรม คอนโดมิเนียม สถานประกอบการ โรงงาน หากยังรับแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่ไม่รู้ที่มา เข้ามาอาศัยพัก ยังรับเข้าทำงาน จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศ ลำพังเจ้าหน้าที่ทำงานกันหนักอยู่แล้ว หากไม่ร่วมมือและยังพาเขาเข้ามา เอาบ้านของท่านให้เขาเช่า เราจะควบคุมโรคไม่ได้ ดังนั้นเจ้าของสถานที่ หากพบแรงงานที่ไม่รู้ที่มาขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่” ปลัด สธ. กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ส่วนกรณีโรงงานปลากระป๋องแห่งหนึ่ง จ.สมุทรสาคร ตรวจหาเชื้อในกลุ่มแรงงานกว่า 3 พันราย พบมีการติดเชื้อ 900 ราย นพ.โอภาส กล่าวว่า ถือว่าโรงงานมีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือ เมื่อตรวจเจอแล้วจะต้องวางแผนต่อว่าจะนำผู้ติดเชื้อไปรักษาที่ใด แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ

“ดังนั้น เรามีแนวคิดว่าหากตรวจเจอก็ทำเหมือนที่ตลาดกลางกุ้ง โดยการให้เขาจัดสถานที่อยู่ในโรงงาน มีพยาบาลคอยดูแล ส่วนผู้ที่มีอาการมากก็ให้ไปโรงพยาบาล ผู้มีอาการน้อยหากอยู่ครบ 14 วัน ก็ถือว่าปลอดภัย อยากให้โรงงานทุกแห่งให้ความร่วมมือ คือ 1.ตรวจหาเชื้อในกลุ่มพนักงานและแจ้งมา เราจะไปร่วมมือกับเขาในการกักกันโรค แต่ต้องใช้ผลจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2.หากพบผู้ป่วยอาการน้อยก็ขอให้อยู่ในโรงงานไม่ต้องออกมา ซึ่งจะปลอดภัยกับทุกคน” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ นพ.โอภาส กล่าวว่า การกักตัวอยู่ที่ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน เมื่อครบแล้วแม้ตรวจเจอก็จะพบซากเชื้อ ไม่แพร่ไปสู่ผู้อื่น เป็นไปตามแนวทางการรักษาของกรมการแพทย์ที่ให้ไกด์ไลน์ว่า หากผู้ป่วยไม่มีอาการมากกว่า 10 วัน ก็ออกจากโรงพยาบาลได้ ดังนั้นผู้ที่ตรวจเจอเชื้อมากกว่า 10 วันไปแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อให้ใครแล้ว ก็สามารถไปไหนมาไหนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image