14 กุมภาฯ อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 พร้อมฉีดล็อตแรกในไทย สธ.ยันไม่มีเอี่ยวเจ้าสัว

14 กุมภาฯ อย.ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 พร้อมฉีดล็อตแรกในไทย สธ.ยันไม่มีเอี่ยวเจ้าสัว

เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. นำคณะ แถลงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า การซื้อวัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค เป็นวัคซีนเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง ที่ประเทศจีนมีการฉีดให้กับประชาชนจำนวนมาก โดยเป็นการใช้ในกรณีฉุกเฉิน ยังไม่พบว่ามีรายงานผลข้างเคียงชนิดรุนแรงแต่ประการใด และคงจะได้ขึ้นทะเบียนในประเทศจีนได้ในเร็ววัน ทั้งนี้การนำเข้ามาใช้ในไทยนั้นจะเป็นการทยอยนำเข้ามา

“ล็อตแรกปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ล็อตถัดไปคือ เดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่งการทยอยนำเข้ามาก็จะทำให้ไทยได้เกิดการเรียนรู้ด้วย จากนั้นเดือนพฤษภาคมก็จะเป็นล็อตใหญ่จากบริษัท แอสทราเซเนกา จำนวน 26 ล้านโดส และหลังจากนั้นอีก 35 ล้านโดส โดยรวมที่มีการจัดหาวัคซีนใช้ประเทศไทยประมาณ 60 กว่าล้านโดส สำหรับคนไทยประมาณ 30 ล้านคน เบื้องต้น เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้สำรองงบกว่า 1,000 ล้านบาท จัดซื้อมาก่อน ระหว่างที่รัฐบาลยังไม่ได้โอนงบมาให้” ปลัด สธ.กล่าว และว่า ทั้งนี้ ในกระบวนการขึ้นทะเบียนนั้น ล็อตแรกคาดว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะขึ้นทะเบียนได้ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งตั้งใจจะให้ตรงกับวันแห่งความรัก

Advertisement

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการจัดสรรวัคซีน 2 แสนโดสแรก ที่จะเข้ามาฉีดในสถานการณ์เร่งด่วนว่า จะให้กับกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว เบาหวาน อ้วน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังให้กับบุคลากรสาธารณสุขและบุคลากรที่ทำงานหน้าด่านในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยองจันทบุรี และตราด โดยจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในวันที่ 11 มกราคมนี้ หากผ่านความเห็นชอบ จะเข้าสู่แผนการเตรียมความพร้อม พิจารณาสถานพยาบาลที่จะจัดบริการฉีด การอบรมเจ้าหน้าที่ และการลงทะเบียนด้วยแอพพลิเคชั่น เนื่องจากมีการเคลื่อนของคน การใช้แอพพ์จึงสะดวกในการลงทะเบียนและติดตามการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม และติดตามผลหลังการรับวัคซีนด้วย และผลข้างเคียงจากวัคซีนด้วย

ทั้งนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า หลังการรับวัคซีนแล้ว กรมควบคุมโรคจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสถานพยาบาล ดำเนินการติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนทุกราย เป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากมีอาการอะไรก็จะมีระบบบันทึกข้อมูล หากมีอาการรุนแรง จะมีคณะกรรมการตรวจสอบอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนหากรุนแรงมาก และคิดว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนก็จะสอบสวนและหยุดการฉีดวัคซีนไว้

“อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเป็นไปตามมาตรฐานสากล สำหรับการกระจายวัคซีนส่วนกลางจะมีคลังของกรมควบคุมโรค ร่วมกับ อภ. ส่งกระจายไปยัง รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป แล้วค่อยกระจายต่อไปยัง รพ.ชุมชน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมๆ มีจุดให้บริการกว่า 11,000 แห่ง เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนใกล้บ้านที่สุด” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการหยุดการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสังคม อาจจะไม่ต้องฉีดครบ 100% แต่การมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาในระดับหนึ่งจะลดอำนาจการแพร่กระจายเชื้อได้ การระบาดในสังคมนั้นจะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งท้ายที่สุดจะหยุดการแพร่ระบาดได้ แต่ก็อาจจะเจอผู้ป่วยประปราย ประเทศไทยก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การจัดหาวัคซีนต้องมีการพิจารณาข้อมูลหลายด้านอย่างรอบคอบ อาทิ 1.คุณสมบัติของวัคซีน 2.ราคา 3.จำนวนที่จะได้มา และ 4.ระยะเวลาที่จะได้วัคซีนเข้ามา เพราะการเจราซื้อวันนี้ไม่ใช่ว่าจะได้เลย แต่ต้องรอ บางตัวอาจจะรอนาน 8 เดือน 1 ปี ทั้งนี้ ต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลแล้วเลือกที่ปลอดภัยกับประชาชน และเจรจาไว้หลายตัวเพื่อเป็นทางเลือก แต่คาดว่าไม่น่าจะเกิน 3 ชนิด เพราะถ้ามากเกินไปอาจจะทำให้เกิดการซับซ้อนและสับสน

“ขอให้ประชาชนมั่นใจ เรามีกลไกคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญหารือกันอย่างถี่ถ้วนในการจัดหาวัคซีน ส่วนที่มีความเป็นห่วงกังวลในโซเชียลมีเดียทั้งหลายนั้น สธ.รับฟัง แต่หลายเรื่องเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่คาดเคลื่อน หลายเรื่อง เป็นการมองซ้าย มองขวาที่ไม่เหมือนกัน ยืนยันว่าไม่มีการกีดกันเอกชน แต่ต้องทำให้ถูกกฎหมาย และปริมาณวัคซีนที่รัฐจัดหาก็เพียงพอที่จะให้กับคนไทย พอที่ในระดับจะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ควบคุมป้องกันโรคได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องไปรับวัคซีนจากภาคเอกชนด้วยซ้ำไป” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า กรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐซื้อวัคซีนจากบริษัทของจีน เพราะมีเจ้าสัวเข้าไปมีหุ้นนั้นก็ไม่เกี่ยวข้องกัน เนื่องจากวัคซีนที่จองไว้ 26 ล้านโดส จะเริ่มมีใช้ประมาณเดือนพฤษภาคม แต่ระหว่างนี้ก็พยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นหลายแห่ง

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีวัคซีนที่ผ่านการทดลองในคนระยะที่ 3 แล้วไม่กี่แห่ง อาทิ วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ในรูปแบบ mRNA ประสิทธิผลร้อยละ 95 ต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 21 วัน วัคซีนของบริษัท โมเดอร์นา ชนิด mRNA ประสิทธิผลร้อยละ 94.5 ทั้ง 2 ชนิดได้รับการขึ้นทะเบียนที่อเมริกาแล้ว ซึ่งของไฟเซอร์ขึ้นทะเบียนที่อังกฤษด้วย นอกจากนี้ ก็มีวัคซีนของแอสทราเซเนกา ชนิด Viral vecter ประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 62-90 อยู่ที่ปริมาณการฉีด มีการขึ้นทะเบียนแล้วที่อังกฤษ โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 28 วัน วัคซีนของรัสเซีย ชนิด Viral vecter ประสิทธิผลผลร้อยละ 92 ต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 24 วัน และวัคซีนเชื้อตายของบริษัทในประเทศจีน ประสิทธิผลอยู่ที่ร้อยละ 79 ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 21 วัน และล่าสุดคือ วัคซีนเชื้อตายของบริษัทซิโนแวค ประสิทธิผลที่ร้อยละ 78 ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 14 วัน อยู่ระหว่างการยื่นขึ้นทะเบียนที่ประเทศจีน

“วัคซีนแต่ละตัวจะมีผลข้างเคียงอยู่ มีทั้งผลข้างเคียงทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดบริเวณข้างเคียงที่ฉีด ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงรุนแรงของวัคซีนทั้ง 5 ตัว แต่มีข้อสังเกตว่าการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงนี้เป็นการใช้ในภาวะเร่งด่วน อยู่ในภาวะที่ทยอยฉีดและเก็บข้อมูลไปด้วย ดังนั้น พอใช้วัคซีนไปจำนวนมากกว่าล้านคนขึ้นไปผลข้างเคียงที่อาจจะพบได้ยากหากฉีดในจำนวนคนน้อยๆ ก็จะค่อยๆ ปรากฏขึ้น เช่น วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ที่มีการรายงานของศูนย์ควบคุมป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US CDC) ที่มีรายงานการแพ้วัคซีนชนิดรุนแรงจากการใช้ในวงกว้างอัตราส่วน 11 ต่อ 1 ล้านการฉีด เป็นต้น ซึ่งวัคซีนตัวอื่นๆ ก็จะมีการเก็บข้อมูลแบบนี้เช่นเดียวกันก็จะทำให้เราพบข้อมูล ทั้งนี้การฉีดวัคซีนในภาวะเร่งด่วนที่มีการระบาดหนักต้องชั่งน้ำหนักผลที่จะได้ ในแง่ของการควบคุมการระบาด ลดอัตราป่วย อัตราการเสียชีวิต กับผลข้างเคียงของวัคซีน” นพ.นครกล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเก็บรักษาวัคซีนแต่ละชนิดก็แตกต่างกัน เช่น ชนิด mRNA ของไฟเซอร์ต้องเก็บที่อุณหภูมิติดลบ 70-80 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 6 เดือน ถ้าเอาไว้ในตู้เย็นปกติ 2-8 องศาเซลเซียส เก็บไว้ได้นาน 5 วัน วัคซีนของโมเดอร์นาเก็บในอุณหภูมิติดลบ 20 องศาเซลเซียส เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาจัดหาวัคซีนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดที่เริ่มทยอยออกมาระยะหลังๆ เช่น ของแอสทราเซเนกา ของรัสเซีย ของไซโนฟาร์ม เก็บได้ที่อุณหภูมิของตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส และระยะต่อๆ จะมีวัคซีนที่ออกมาอีกเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image