กรมวิทยาศาสตร์ฯ ชี้แรพิดเทสต์ตรวจโควิด-19 มีข้อจำกัดในการอ่านผล อย่าซื้อใช้เอง

กรมวิทยาศาสตร์ฯ ชี้แรพิดเทสต์ตรวจโควิด-19 มีข้อจำกัดในการอ่านผล อย่าซื้อใช้เอง

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงวิธีมาตรฐานในการตรวจหาเชื้อก่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า คือการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัส วิธี RT-PCR โดยเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งด้วยการป้าย หรือสว็อบ (Swab) จากหลังโพรงจมูกและป้ายจากลำคอ และนำตัวอย่างไปตรวจอาจจะใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง จะทราบผล แต่วิธีการเก็บตัวอย่างต้องมีการเตรียมการสถานที่ตรวจและคนตรวจจะต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันสูงสุด ทำให้มีความยุ่งยาก และการตรวจมีข้อจำกัด โดยเฉพาะหากจะต้องตรวจจำนวนมากนับพัน นับหมื่น จะต้องใช้เวลาในการเก็บตัวอย่าง

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันให้สามารถตรวจตัวอย่างจากน้ำลายได้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถเก็บตัวอย่างใส่กระป๋องที่เจ้าหน้าที่มอบให้ได้ด้วยตัวเอง และส่งตรวจด้วยวิธีเดิม คือ RT-PCR ตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสเช่นกัน แต่วิธีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจะแตกต่างกัน

“การตรวจจากตัวอย่างน้ำลาย ถ้ากรณีจะต้องตรวจจำนวนมาก และอัตราการพบผู้ติดเชื้อไม่มาก เช่น 100 ราย พบติดเชื้อ 2-3 ราย ให้สามารถตรวจเป็นกลุ่มได้ โดยเอาน้ำลายของ 5 ราย มารวมกันแล้วตรวจ ถ้าตรวจไม่พบเชื้อ แสดงว่า 5 รายนั้น ไม่มีใครติด แต่ถ้าผลเป็นบวกมีการพบเชื้อ ก็จะตรวจรายบบุคคลต่อไป” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับการใช้ชุดตรวจเร็ว (Rapid test) เป็นการตรวจแอนติเจน ซึ่งยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะฉะนั้นจะใช้ตรวจบางกรณีเท่านั้น ไม่แนะนำให้ใช้ตรวจเป็นการทั่วไป เพราะมีผลบวกลวงหรือลบลวงมากอยู่พอสมควร ส่วนการตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี โดยเป็นการตรวจแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นภายหลังการติดเชื้อ มีทั้งการตรวจในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) และชุดตรวจเร็วที่มีการขายมากในปัจจุบันด้วยการเจาะเลือด นำไปหยดน้ำยา และแสดงผล ถ้าไม่ขึ้นอะไร ไม่ใช่แปลว่าไม่ติดเชื้อ แต่อาจจะติดเชื้อเมื่อวานแต่ภูมิต้านทานยังไม่ขึ้นก็ได้ ดังนั้น การตรวจภูมิฯ จะตรวจเพื่อใช้ประกอบการอธิบายภายหลังจากตรวจวิธีมาตรฐานแล้วเป็นบวก แต่ไม่ใช้เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ชุดตรวจเร็วที่เป็นการตรวจภูมิต้านทานที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)แล้วนั้น จะต้องจำหน่ายเฉพาะสถานพยาบาล โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์หรือสหคลินิกที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือเทคนิคการแพทย์ตามกฎหมายกำหนด ซึ่งการตรวจและการแปลผลต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปซื้อไปตรวจเอง เพราะจะมีการแปลผลที่ผิดพลาดและเป็ยนอันตรายอย่างใหญ่หลวง โดยกรณีที่ไม่พบว่าติดเชื้ออาจเข้าใจไปว่าตัวเองไม่ติดเชื้อทั้งที่ไม่ใช่ จนทำให้ใช้ชีวิตแบบประมาททำให้เกิดการแพร่ระบาดได้

กรณีมีการนำเสนอผ่านสื่อว่า มีชุดตรวจแอนติบอดีอย่างเร็วของสถาบันหนึ่งให้ผลเทียบเท่าการตรวจหาสารพันธุกรรมวิธีมาตรฐานนั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน ซึ่งการตรวจสารพันธุกรรมมีระยะตรวจไม่เจอเพียงไม่กี่วัน แต่ตรวจภูมิต้านทานนั้นบางราย 2-3 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันถึงจะขึ้น ดังนั้นหากตรวจแล้วเป็นลบ อาจเข้าใจว่าไม่ติดเชื้อแล้วจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง

“กรมวิทย์ฯ เองก็มีการพัฒนาชุดตรวจแอนติบอดี้อย่างเร็วและผ่านการรับรองจาก อย.แล้วเช่นกัน แต่ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ไม่แนะนำให้หาซื้อไปตรวจเองเด็ดขาด และหากประชาชนพบการขายทางออนไลน์ไม่ว่าของบริษัทไหน สามารถแจ้ง อย.หรือสำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) ในพื้นที่ได้ เพราะตามกฎหมายไม่อนุญาตให้มีการขายออนไลน์” นพ.ศุภกิจ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image