ครอบครัวระส่ำ โควิดระบาดรอบใหม่ ถึงเวลา เงินเด็กแรกเกิด ‘ถ้วนหน้า’

เงินเด็กแรกเกิด

ครอบครัวระส่ำ โควิดระบาดรอบใหม่ ถึงเวลา เงินเด็กแรกเกิด ‘ถ้วนหน้า’

“ก่อนโควิดมา ผมขับวินมอเตอร์ไซค์ แค่ครึ่งเช้าก็ได้เงิน 2 ร้อยกว่าบาทแล้ว แต่ตอนนี้รายได้ลดลงไปมาก เพราะคนกลัวโควิด ไม่ค่อยเดินทาง แม้วิ่งทั้งวัน หักลบต้นทุนต่างๆ และซื้อของเข้าบ้าน บางวันผมเหลือเงิน 60-80 บาท ยิ่งบางวันรายได้ยังไม่ถึงยอดค่าใช้จ่าย ก็ต้องวิ่งต่อไป กลับบ้านไม่ได้ กว่าจะได้กลับก็โน่นเที่ยงคืน บางวันก็ตีสาม ทำเพื่อเราสี่คนพ่อแม่ลูก”

คำบอกเล่าของ สมนึก แซ่เจีย พ่อสู้ชีวิตวัย 35 ปี ยืนเปิดใจพร้อมอุ้มลูกน้อย เคียงข้างภรรยา จุฬาลักษณ์ สมศรี ที่ยืนจูงมือลูกชายวัย 3 ขวบ ในงานแถลงข่าว 301 องค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พิจารณาสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ณ สนามเด็กเล็ก สำนักงานมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ ซอยรัชดาภิเษก 36

ภาพจากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ

เดิมที สมนึกและจุฬาลักษณ์ ช่วยกันทำงานหารายได้ สามีขับวินมอเตอร์ไซค์ แกร็บไบค์ พองานน้อยจากสถานการณ์โควิด เขาไปสมัครทำงานประจำ เป็นงานขับรถวิ่งรับส่งสิ่งของกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง รับเงินเดือน 9,000 บาท แล้ววิ่งวินมอเตอร์ไซค์เป็นอาชีพเสริม ส่วนภรรยาขับมอเตอร์ไซค์ส่งอาหารดิลิเวอรี ขับวินมอเตอร์ไซค์ แกร็บไบค์ พอเจอสถานการณ์โควิดระบาดระลอกใหม่ ประกอบกับมีลูกคนที่สอง รัฐบาลประกาศปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก เธอต้องเลี้ยงลูกเอง กลับไปทำงานไม่ได้ กลายเป็นว่ารายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

Advertisement

“สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็ก 600 บาท ช่วยได้ระดับนึงเลย มันมีประโยชน์กับคนตกงาน คนที่ไม่มีเงิน และเราอยากให้รัฐบาลขยายโครงการให้แบบถ้วนหน้า จะมีประโยชน์กว่า โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้ข่าวสาร จะได้สวัสดิการนี้อัตโนมัติเวลาไปทำสูติบัตร ไม่ใช่ให้เฉพาะคนบางกลุ่ม ซึ่งอาจทำให้ตกหล่นไม่ได้รับสิทธิ

อย่างครอบครัวของเราที่เคยตกหล่นสิทธิ เพราะได้รับคำบอกเล่าว่า หากได้เงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคมอยู่แล้ว จะไม่ได้เงินนี้ ก็เสียเวลาไปเกือบปี จนมารู้ภายหลังจากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ว่าสามารถทำได้ จึงลองไปทำ แล้วก็ทำได้จริงๆ ซึ่งประเด็นนี้คนมีประกันสังคมส่วนใหญ่มักไม่ค่อยรู้” สมนึกและจุฬาลักษณ์กล่าว

สมนึก แซ่เจีย- จุฬาลักษณ์ สมศรี

ขณะที่อีกครอบครัวซึ่งมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ยืนยันว่ายากจนจริงๆ แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เพราะติดปัญหาตรง “ต้องให้ข้าราชการเซ็นรับรอง”

Advertisement

วารุณี มาสอน แม่วัย 29 ปี ลูก 3 คน เล่าพลางอุ้มลูกสาวคนเล็กวัย 4 เดือน ว่า ตอนนี้เผชิญความยากลำบากมาก สามีตกงาน ยังหางานทำไม่ได้ เลยให้มาเลี้ยงลูก ส่วนดิฉันก็ขับวินมอเตอร์ไซค์หาเลี้ยงครอบครัว แน่นอนตอนนี้ลูกค้าน้อย รายได้ไม่พอ สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดก็ยังไม่ได้ เพราะรับทราบข่าวจากเพื่อนๆ ที่ไปยื่นก่อนหน้านี้ว่า ต้องให้ข้าราชการเซ็นรับรอง ดิฉันก็ไม่รู้จะหาข้าราชการไหนมาเซ็นรับรอง

“รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้สิทธิสักที ทั้งที่ตอนนี้ลูกคนกลางก็ 2 ขวบแล้ว แต่ละวันมีค่าใช้จ่ายมากมาย ทั้งค่ากับข้าว ค่าห้องพัก ค่านมผง ค่าแพมเพิร์สลูก วิ่งวินทั้งวันตอนนี้รายได้หักต้นทุน ยังแทบไม่เหลือเงินให้เก็บเลย ฉะนั้นก็อยากให้รัฐบาลดูแลครอบครัวเปราะบาง อย่างการขยายโครงการแบบถ้วนหน้า เพื่อจะไม่ต้องหาข้าราชการเซ็นรับรอง เชื่อว่าจะแบ่งเบาภาระไปได้มาก” วารุณีกล่าว

วารุณี มาสอน
ภาพจากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ

เป็นหนึ่งในเคสตัวเองที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการ จากการให้ข้าราชการซึ่งในทางปฏิบัติคือ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ต้องมาเซ็นรับรองความยากจนให้ ซึ่งเป็นปัญหามากกับแรงงานข้ามถิ่น ที่ไม่มีผู้นำชุมชนไหนกล้ามาเซ็นรับรองให้ เนื่องจากไม่รู้จัก และแม้จะเป็นคนท้องถิ่นเอง เป็นคนที่ผู้นำชุมชนรู้จัก แต่หากเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพความยากจน แล้วพบว่ามีบ้าน มีรถใช้งาน ก็เสี่ยงถูกตัดสิทธิสูงมาก ถูกสะท้อนออกมาจาก คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ที่ยืนยันว่าสารพัดปัญหาทำให้คนตกหล่นถึงร้อยละ 30 จะหมดไป หากรัฐบาลจัดสรรแบบถ้วนหน้า

คณะทำงานยังเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการรองรับหลังสั่งปิดศูนย์เด็กเล็กด้วย เพราะตอนนี้กลายเป็นว่าเด็ก 1.8 แสนคน ที่เคยได้รับการดูแลจากสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก ต้องขาดความช่วยเหลือเรื่องอาหาร นม ตลอดจนการส่งเสริมพัฒนาการ ซึ่งกระทบมากกับแม่วัย 27 ปี ซึ่งมีลูก 5 คน และกำลังตกงานรายนี้

ยุพาวรรณ ช่วงสุคนธ์ เล่าว่า ตอนนี้ต้องเผชิญปัญหาหนักมาก เพราะโควิดทำให้งานไม่มี จะออกไปไหนก็ไม่ได้ จะไปฝากลูกให้มูลนิธิช่วยเลี้ยงดู ก็ถูกสั่งปิด จึงต้องเลี้ยงดูเอง ลูกคนโตสุด อายุ 11 ขวบ ดิฉันส่งไปอยู่ที่ค่ายมวย ทางค่ายเลี้ยงดูแลอาหารและที่พัก เพื่อฝึกเป็นนักมวย คนเล็กสุดอยู่ในท้อง ตอนนี้ดิฉันตั้งครรภ์ 6 เดือน ส่วนสามีทำงานก่อสร้าง รายได้มีบ้างไม่มีบ้าง แต่ช่วงหลังไม่ค่อยมีงาน รายได้เราแทบไม่มี ท่ามกลางรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ตอนนี้เรากำลังแย่ ก็พยายามดิ้นรนรับจ้างทั่วไปหาเงินประทังครอบครัว

และภายหลังปิดสถานรับเลี้ยงเด็กตามประกาศ ศบค. มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ชะงักการช่วยเหลือไปพักหนึ่ง ล่าสุดปรับตัวจัดชุดอาหาร ขนม และเครื่องดื่มแจกให้เด็กๆ ที่ดูแล ใครบ้านใกล้ให้ผู้ปกครองเดินมารับสิ่งของได้ที่มูลนิธิ ใครบ้านไกลก็ให้เจ้าหน้าที่นำสิ่งของนั้นไปส่งให้ถึงบ้าน หวังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนครอบครัว ภายใต้ทรัพยากรจำกัด มูลนิธิช่วยได้เพียงจำนวนหนึ่ง ส่วนเด็กอีก 1.8 แสนคนทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่ได้คาดหวังให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมาตรการรองรับดูแลเช่นกัน

ยุพาวรรณ ช่วงสุคนธ์
ภาพจากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ
ภาพจากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ

เพราะครอบครัวกำลังเดือดร้อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image