กรมอุทยานฯแจ้งจับ 2 แม่ค้าโฆษณาขายเนื้อกวาง-เก้ง ‘ดีเอ็นเอ’ มัดตัว ที่แท้เป็นหมูบ้าน

กรมอุทยานฯแจ้งจับ 2 แม่ค้าโฆษณา ขายเนื้อกวาง-เก้ง ‘ดีเอ็นเอ’ มัดตัว ที่แท้เป็นหมูบ้านธรรมดา เจอทั้งคุก-ปรับ ฐานหลอกลวงการขาย-หลอกลวงผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 14 มกราคม นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ดำเนินการป้องกัน และปราบปรามร้านค้าร้านอาหารที่กระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรทางด้านสัตว์ป่า รวมทั้งผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการหลอกลวงผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด

โดยก่อนดำเนินการตามนโยบายขั้นเด็ดขาดนั้น เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 คณะเจ้าหน้าที่ได้ออกประชาสัมพันธ์และติดป้ายประกาศเตือนห้ามไม่ให้เหล่าบรรดาร้านค้าร้านอาหารต่างๆ รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้า ที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ตามตลาดสด ลักลอบนำซากเนื้อสัตว์ป่าคุ้มครองเข้ามาจำหน่าย หากถูกจับกุมจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมทั้งประชาสัมพันธ์ห้ามติดป้ายโฆษณาว่าเป็นเนื้อสัตว์ป่าคุ้มครองโดยเด็ดขาดเนื่องจากหากนำไปตรวจดีเอ็นเอ แล้วพบว่าเป็นประเภทเนื้อหมู หรือเนื้อสัตว์ชนิดที่ไม่ผิดกฎหมาย ก็จะถูกดำเนินคดีฐานหลอกลวงการขายตาม ปอ.มาตรา 271 ระวางโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่น หลอกลวงผู้บริโภค มาตรา 47 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ซึ่งร้านค้าที่มีอยู่ต่างก็เข้าใจกันเป็นอย่างดี โดยให้เวลาแก้ไขป้ายโฆษณาให้ถูกต้องเป็นเวลา 15 วัน

เมื่อครบกำหนด 15 วัน ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เอาจริงเอาจังกับผู้กระทำผิด ด้วยการกระจายกำลังออกตรวจตราร้านค้าและร้านอาหารรวมทั้งตลาดสด ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากตรวจสอบแล้วยังส่งสายเข้าทำการล่อซื้อเนื้อสัตว์ตามร้านต่างๆ ที่ยังมีการฝ่าฝืนติดป้ายโฆษณาอยู่

Advertisement

โดยในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่พบร้านอาหารชื่อร้านเสบียงไพร จ.กาญจนบุรี ที่มี นางสุภวดี เข็มวิชัย เป็นเจ้าของ ยังมีการติดป้ายโฆษณาว่าจำหน่ายเนื้อสัตว์ ประเภท เก้ง กวาง และหมูป่า ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงเข้าทำการล่อซื้อ เนื้อกวางสด หนัก 1 กิโลกรัม เป็นเงินจำนวน 290 บาท โดยมี น.ส.นิสา มงคล ลูกจ้างของร้านเป็นผู้ขายให้

หลังจากทำการล่อซื้อแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวให้ทางร้านได้รับทราบ จากนั้นจึงเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ไทรโยค เพื่อลงบันทึกประจำวันเอาไว้ ก่อนที่จะส่งชิ้นเนื้อไปตรวจดีเอ็นเอ ที่ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า (กรมอุทยานฯ)

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้เข้าทำการล่อซื้อเนื้อเก้ง จากร้านของ น.ส.พรนภัส กาญจนศรีกุล ที่อยู่ภายในตลาดสดเทศบาลเมืองกาญจนบุรี หนัก 1 กิโลกรัม เป็นเงินจำนวน 200 บาท

Advertisement

ซึ่งก่อนการล่อซื้อนั้นเจ้าของร้านแจ้งว่าเป็นเนื้อเก้ง แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ได้แสดงตัวให้ทราบ เจ้าของร้านกลับแจ้งใหม่ว่าเป็นเนื้อหมู จึงเข้าข่ายฐานหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาญจนบุรี เพื่อลงบันทึกประจำวันเอาไว้เป็นหลักฐาน แต่เพื่อความเป็นธรรม คณะเจ้าหน้าที่จึงนำชิ้นเนื้อที่ทำการล่อซื้อส่งไปพิสูจน์ดีเอ็นเอ ที่ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า (กรมอุทยานฯ) ด้วยเช่นกัน

นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สบอ.3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ล่าสุด ดร.กณิตา อุ่ยถาวร ผู้อำนวยการศูนย์นิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รายงานผลการตรวจพิสูจน์ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าของกลาง กลับมาที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) แล้ว ปรากฏว่าเนื้อสัตว์ที่ทำการล่อซื้อจากทั้ง 2 ร้านค้านั้น เป็นเนื้อหมูบ้านธรรมดา ไม่ใช่เนื้อเก้ง หรือเนื้อกวาง ตามที่โฆษณาแต่อย่างใด

ดังนั้น วันนี้จึงนำเจ้าหน้าที่เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ไทรโยค และพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาญจนบุรี เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของร้านที่กระทำผิดในข้อหา ฐานหลอกลวงการขาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครอง (บริโภค พ.ศ.2522 และฉบับแก้ไข มาตรา 47 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“จากนี้ไปจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สภ.ไทรโยค และ สภ.เมืองกาญจนบุรี ในการเรียกตัวผู้กระทำผิดมารับทราบข้อกล่าวหา เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนจะให้ประกันตัวหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน” นายนิพนธ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image